เมื่อวันพฤหัสบดี (3 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น สมาชิกคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ จากพรรคเดโมเเครต และส.ว.จากพรรคเดียวกันคนอื่นๆ รวมกันทั้งหมด 9 คน ซึ่งมี พ.ท. หญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ เชื้อสายไทย รวมอยู่ด้วย ยื่นเสนอขอมติวุฒิสภา เพื่อเน้นพันธสัญญาของสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรมในไทย หลังมีการประท้วงอย่างต่อเนื่องหลายเดือน ” ตามในร่างแถลงการณ์ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการฯ ระบุ Click
“นักปฏิรูปในประเทศไทยไม่ได้เรียกร้องการปฏิวัติสังคม พวกเขาเพียงต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง เพื่อเสรีภาพในการพูดและการชุมนุม และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมประเทศประชาธิปไตย” บ็อบ เมเนนเดซ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐนิวเจอร์ซีย์ หนึ่งในผู้นำยื่นมติ กล่าว
วุฒิสมาชิก เมเนนเดซ ยังย้ำด้วยว่า มติดังกล่าวจะเป็นการ “ส่งข้อความอย่างชัดเจน” เพื่อสนับสนุนเสรีภาพในการพูดและการชุมนุมในไทย และเตือนให้ทุกฝ่ายให้ไม่ใช้ความรุนแรงและการคุกคามที่ไม่จำเป็น
“สหรัฐฯ ต้องแสดงออกอย่างชัดเจนว่าความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนในระยะยาวของสหรัฐฯ กับไทย จะดำเนินต่อไปบนพื้นฐานของประโยชน์ร่วมกัน และบนพื้นฐานของการเคารพประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนพื้นฐาน และหลักนิติธรรมร่วมกัน” เมเนนเดซกล่าว
“ขณะที่คนไทยถกเถียงถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ อนาคตทางการเมืองของพวกเขาควรถูกกำหนดโดยการเจรจาอย่างสันติ ไม่ใช่ความรุนแรง การคุกคาม หรือการข่มเหงรังแก” ดิค เดอร์บิน วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐอิลลินอยส์ ระบุ “โดยเฉพาะเสียงของนักเรียนนักศึกษา และเยาวชนไทยที่กล้าหาญนั้น ควรได้รับความสนใจและการเคารพ”
ขณะที่ พ.ท. หญิง ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐอิลลินอยส์ ยังส่งข้อความในฐานะ “ชาวไทย-อเมริกันที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการประท้วงอย่างสันติในสหรัฐฯ” ถึงผู้นำไทยให้ “รับฟังประชาชนและเคารพหลักประชาธิปไตย ทำให้ (เรื่องนี้) เป็นประเด็นหลักของรัฐบาลที่จัดตั้งมาได้อย่างยากลำบากให้ได้”
ทั้งนี้ เอกสารที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ระบุมติจำนวนห้าข้อที่เรียกร้องให้วุฒิสภาสหรัฐฯ
1. เน้นย้ำความสัมพันธ์สหรัฐฯ - ไทย บนพื้นฐานของคุณค่าทางประชาธิปไตยและผลประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ร่วมกัน
2. สนับสนุนชาวไทยในการเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย การปฏิรูปการเมือง สันติภาพในระยะยาว และการเคารพมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล
3. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปกป้องและสนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ เสรีภาพในการแสดงออก และปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งหยุดคุกคาม ข่มขู่ หรือข่มเหงผู้เข้าร่วมประท้วงอย่างสันติ โดยเน้นการดูแลสิทธิและความปลอดภัยของเด็กและนักเรียนนักศึกษาเป็นพิเศษ
4. เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนสิทธิของชาวไทยในการกำหนดอนาคตของพวกเขาอย่างสันติและเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย
5. ระบุอย่างชัดเจนว่าการทำรัฐประหารเพื่อแก้วิกฤติทางการเมืองในปัจจุบันจะทำให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม และอาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-ไทย มากขึ้น
เอกสารจำนวน 5 หน้าดังกล่าว ยังให้รายละเอียด ระบุ ถึงสถานการณ์การเมืองไทย นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปีพ.ศ. 2475 วงจรการเกิดรัฐประหารและรัฐบาลทหารหลายครั้งในรอบเกือบศตวรรษ การรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2557 การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ “ทำให้ประชาธิปไตยในไทยและการคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญเสื่อมถอยลง”
เอกสารดังกล่าวยังระบุถึงการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วว่า “มีกลุ่มติดตามการเลือกตั้ง อิสระหลายกลุ่ม ระบุว่ามีข้อพร่อง และเอนเอียงเพื่อให้กลุ่มอำนาจทหาร ที่มีพรรคของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะทหารและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” การยุบพรรคอนาคตใหม่ และการที่รัฐบาลไทย “ล้มเหลวต่อการสืบสวนประเด็นการทำร้ายนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้วิจารณ์รัฐบาลในไทย และผู้เห็นต่างทางการเมืองชาวไทยที่ลี้ภัยในประเทศต่างๆ ในเอเชียที่ถูกบังคับให้สูญหายและถูกฆาตกรรม”
เอกสารฉบับนี้ยังระบุถึงการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติในไทยนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ การที่รัฐบาลไทยปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยการคุกคาม สะกดรอยตาม ใช้ความรุนแรง จับกุมรวมถึงคุมขัง โดยมีผู้ประท้วงถูกจับกุมแล้วกว่า 170 คนนับตั้งแต่มีการชุมนุมมา
ทั้งนี้ การเสนอมติของวุฒิสภาบางครั้งเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองหรือการต่างประเทศ แต่ไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติ
ผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยในสหรัฐฯ เผย “ดีใจมาก” วุฒิสภาสหรัฐฯ ผลักดันประเด็นประชาธิปไตยในไทย
ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย คาดหวังว่า ท่าทีของวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ครั้งนี้ จะเป็นหนึ่งในอีกเสียงจากนานาประเทศที่เป็นกำลังใจให้ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยชาวไทยไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และช่วยสร้างแรงกดดันไปยังผู้มีอำนาจในไทยมากจึ้น
“อย่างน้อยที่สุด การที่ผู้มีอำนาจจะเอากฎหมายอย่างเช่นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (กำหนดบทลงโทษการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ออกมาใช้กวาดล้างแบบเดิมนั้น ก็จะทำให้สังคมโลกประณามและตั้งคำถามกดดันกลับไปมากขึ้นกว่าเดิม” ณัฏฐิกา ผู้ถูกดำเนินคดีจากกฎหมายมาตราดังกล่าว รวมถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งกำหนดบทลงโทษฐานยุยงปลุกปั่น สืบเนื่องจากการเป็นหนึ่งในแอดมินเพจล้อเลียนพลเอกประยุทธ์ กล่าว
“ประเทศไทยยังอยู่ในระหว่างการต่อสู้ทางการเมือง การออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวและไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงตอบโต้ประชาชนที่ออกมาประท้วง ถือเป็นกำลังใจชั้นดีที่ทำให้ขบวนการประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไป” ผู้ลี้ภัยชาวไทยที่อาศัยในสหรัฐฯ มากว่า 3 ปี กล่าว “ส่วนตัวคิดว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะกินเวลาไปอีกหลายปี”
ในฐานะหนึ่งในแกนนำผู้จัดการชุมนุมในสหรัฐฯ คู่ขนานกับการเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย ณัฏฐิกาตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่วุฒิสภาสหรัฐฯ ให้ความสนใจในประเด็นนี้ อาจเป็นเพราะการชุมนุมที่ผู้ชุมนุมไม่ลดลงเลยแม้จะกินเวลามาหลายเดือนและถูกปราบปรามจากรัฐ นอกจากนี้ ขบวนการขับเคลื่อนของคนไทยในต่างประเทศยังเดินหน้าไปอย่างเข้มแข็ง รวมถึงมีการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อให้การชุมนุมมีความน่าสนใจ
วีโอเอไทยสอบถามเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไปยังนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทย แต่ไม่ได้รับคำตอบ ณ เวลาที่เผยแพร่รายงานข่าวฉบับนี้