ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปราบข่าวปลอม! รัฐบาลไต้หวันเตรียมแก้กฎหมาย เร่งเอาผิดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ


A Taiwanese citizen identified only as "William" speaks with the media outside the Taiwan embassy on August 21, 2018.
A Taiwanese citizen identified only as "William" speaks with the media outside the Taiwan embassy on August 21, 2018.

เมื่อเดือนที่แล้วสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นที่ไต้หวัน อ้างข้อมูลจากชาวสวนรายหนึ่งว่าเขาต้องทิ้งส้มโอ 1 ล้าน 2 แสนกิโลกรัมลงอ่างเก็บน้ำเนื่องจากราคาส้มโอตกต่ำ

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:05 0:00

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสื่อสารแห่งชาติของไต้หวันกล่าวว่า แท้จริงแล้วชาวสวนรายนี้ ได้นำส้มโอไปขาย ไม่ได้นำไปทิ้งน้ำตามที่ถูกเสนอข่าว

และหลังจากที่กระแสข่าว ซึ่งทางการระบุว่าเป็นข่าวปลอมได้ทำให้เกิดความสับสนในสังคมหลายครั้ง ในไต้หวัน ทางการกรุงไทเปจึงเตรียมออกมาตรการที่เข้มงวดต่อสื่อ

นักวิชาการบางคนเห็นด้วยกับมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพราะ เชื่อว่าจะทำให้ฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากประชาชนได้

อาจารย์จอร์จ หัว จากมหาวิทยาลัย I-Shou ที่ไต้หวัน กล่าวว่าปัจจุบันทุกคนเล่นบทนักข่าวได้ และนั่นเปิดโอกาสให้ใครก็ได้พูดถึงสังคมในแง่ไม่ดี และสร้างความไม่เชื่อใจมั่นต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยึดอาชีพสื่อสารมวลชนกล่าวว่า จะเกิดปัญหาขึ้นถ้ารัฐสามารถดำเนินคดีต่อสื่อด้วยข้อกล่าวหาว่า สื่อ เผยแพร่ข่าวเท็จ หรือ fake news โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐใช้เรื่องนี้โจมตีสื่อที่เสนอข่าวที่ขัดกับผลประโยชน์ของทางการ

คณะรัฐมนตรีไต้หวัน ซึ่งโดยทั่วไปเป็นประเทศที่ให้เสรีภาพสื่อ อนุมัติการปรับกฎหมาย ที่เพิ่มอำนาจการควบคุมสื่อในกรณีที่การออกข่าวเท็จกระทบต่อ การค้า ชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือ ตามข้อมูลของ ลี เฮา-ซง เจ้าหน้าที่ของสำนักอัยการไต้หวัน

ปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายในคดีหมิ่นประมาท และทำให้เสียชื่อเสียง ขึ้นอยู่กับการดำเนินการทางกฎหมายของผู้เสียหาย และระยะเวลาของกระบวนการเอาผิดอาจยืดยาวกว่า 1 ปี

การปรับกฎหมายใหม่ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐจากสำนักงานอัยการ รับหน้าที่เป็นผู้ฟ้องและปิดสำนวนได้รวดเร็วขึ้น

นักวิเคราะห์กล่าวว่ากระแสการเพิ่มอำนาจรัฐในการเอาผิดผู้เสนอข้อมูลที่เจ้าน้าที่เชื่อว่าเป็นข่าวเท็จ มีให้เห็นในหลายประเทศในเอเชีย เช่น ไทย กัมพูชา จีน และสิงคโปร์

ขณะเดียวกันมาเลเซียและฟิลิปปินส์มีความพยายามเช่นเดียวกัน แต่ล้มเลิกการผลักดันไป

อาจารย์จอร์จ หัว จากมหาวิทยาลัย I-Shou กล่าวว่าบางครั้งนักข่าวบกพร่องในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และหากว่าการทำข่าวเช่นนี้ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในสื่อ ประชาธิปไตยจะสั่นคลอนในไต้หวัน ซึ่งอาจเปิดทางให้จีนขยายอิทธิพลเข้ามาครอบงำได้

แต่ รองศาสตราจารย์ คู ลินลิน ผู้สอนวิชาวารสารศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน หรือ National Taiwan University แสดงความกังวลในเรื่องนี้

เธอกล่าวว่ากฎหมายใหม่อาจเปิดทางให้รัฐคุมสื่อมากขึ้น เพราะรัฐอาจใช้อำนาจตัดสินเองว่าข่าวใดเป็น ข้อมูลเท็จ ด้วยบรรทัดฐานของตน

ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวกำลังรอการอนุมัติจากรัฐสภา ซึ่งพรรครัฐบาลคุมเสียงข้างมากอยู่ ก่อนมีผลบังคับใช้

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Ralph Jennings)

XS
SM
MD
LG