ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สัญญาณต่างๆ ที่เป็นตัวเตือนเกี่ยวกับสุขภาพจิตของวัยรุ่น ได้แก่การเปลี่ยนแปลงความเร็วของการเขียน คุณภาพเสียงเเละการเลือกใช้คำ ตลอดจนวัยรุ่นหยุดเรียนอยู่บ้านบ่อยเเค่ไหน
ด็อกเตอร์ ทอมมัส อินเซล (Dr. Thomas Insel) อดีตหัวหน้าของสถาบันสุขภาพจิตเเห่งชาติสหรัฐฯ (the National Institute of Mental Health) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทางสุขภาพจิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวว่า มีสัญญาณบ่งบอกสุขภาพจิตที่ได้จากการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนมากกว่า 1,000 แบบด้วยกัน
ด็อกเตอร์ อินเซล เป็นผู้นำคนหนึ่งในด้านการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพจิตจากการใช้สมาร์ทโฟน บรรดานักวิจัยกำลังทดสอบแอพโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการคาดเดาความซึมเศร้าเเละความเป็นไปได้ของการทำร้ายตนเอง
การใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องช่วยตรวจสุขภาพจิตจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใช้เสียก่อน เพื่อดาวน์โหลดแอพเเละสามารถยกเลิกคำอนุญาตนี้ได้ตลอดเวลา
นิค อัลเลน (Nick Allen) นักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยโอเรกอน ได้คิดค้นแอพโทรศัพท์มือถือขึ้นมาตัวหนึ่ง ซึ่งกำลังใช้ทดสอบกับคนหนุ่มสาวที่คิดสั้นมาตลอด
การปลิดชีวิตตนเองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตหลักอันดับที่ 2 ในกลุ่มคนอายุระหว่าง 10 ถึง 34 ปีในสหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2015 อัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กชายวัยรุ่นในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14 คนต่อทุก 100,000 คน เเละ 5 คนต่อทุก 100,000 คนสำหรับเด็กผู้หญิง
ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดชี้ว่า การใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอาจทำให้ปัญหานี้เลวร้ายลงไปอีก
ด็อกเตอร์อินเซล กล่าวว่า คนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตมักได้รับการบำบัดเมื่อเข้าขั้นวิกฤติเเล้ว หรือเมื่อสายเกินไป จึงจำเป็นต้องมีวิิธีตรวจหาสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตได้ล่วงหน้าให้มากที่สุด
หากโทรศัพท์มือถือสามารถใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยบ่งบอกปัญหาทางสุขภาพจิตได้ล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ บรรดาผู้พัฒนาแอพ กล่าวว่าน่าจะมีการพัฒนาบริการส่งข้อความทางมือถืออัตโนมัติ เเละช่วยประสานความช่วยเหลือหรือส่งข้อความทางดิจิตัลไปถึงพ่อเเม่ แพทย์ เเละทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัย
การวิจัยต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ รวมถึงการวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเกี่ยวกับวัยรุ่นราว 200 คน โดยวัยรุ่นจำนวนมากเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้าเพราะถูกรังเเก ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาอื่นๆ
วัยรุ่นในการวิจัยเรียนอยู่ในระดับชั้นประถมเเละมัธยม เเละได้รับแอพโทรศัพท์ที่ใช้ในการทดลองที่จะถามคำถามต่างๆ เกี่ยวกับอารมณ์วันละ 3 ครั้ง นานติดต่อกัน 2 สัปดาห์
ลอเรล ฟอสเตอร์ (Laurel Foster) อายุ 15 ปี มีส่วนร่วมในการวิจัยนี้ เธอกล่าวว่า รู้สึกเครียดเกี่ยวกับโรงเรียนเเละความสัมพันธ์กับเพื่อน เธอบอกว่าแอพโทรศัพท์มือถือทำให้เธอรู้สึกว่าถูกสอดแนมตลอดเวลา เเละหน้าเว็บไซท์จำนวนมากก็คอยติดตามนิสัยของผู้ใช้
ส่วน เอลิสสา ลิซารากา (Alyssa Lizarraga) อายุ 19 ปี ก็เข้าร่วมในการวิจัยนี้ เธอกล่าวว่าเป็นโรคซึมเศร้ามาตั้งเเต่เข้าเรียนมัธยมปลาย เละกังวลเกี่ยวกับนิสัยการใช้มือถือเเละสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป เธอเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นทางออนไลน์ในบางครั้ง ซึ่งทำให้รู้สึกเศร้า
ที่มหาวิทยาลัยเเคลิฟอร์เนีย ลอสเองเจลลีส ทีมนักวิจัยได้เสนอการบริการให้คำปรึกษาทางออนไลน์เเละใช้แอพโทรศัพท์มือถือรุ่นทดลองกับนักศึกษาที่เเสดงอาการซึมเศร้าในระดับเล็กน้อยในระหว่างการทดลอง
และที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ วิทยาเขตชิคาโก ทีมนักวิจัยกำลังทดลองใช้ crowdsourcing ทดสอบแอพโทรศัพท์มือถือทดลอง มีคนดาวน์โหลดแอพนี้เกือบ 2,000 คน
นอกเหนือจากการวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯ เเล้ว บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งรวมทั้ง Mindstrong กับ Verily ซึ่งเป็นฝ่ายสุขภาพกับเทคโนโลยีของบริษัทกูเกิลก็กำลังทดสอบแอพทดลองของตนเองอยู่ในขณะนี้
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)