ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯกล่าวก่อนออกเดินทางไปประชุมสุดยอดกลุ่มจี 20 ที่ประเทศอาร์เจนตินา ว่าสหรัฐฯใกล้ที่จะตกลงกันได้กับจีนในเรื่องการค้า
การหารือกันระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีสี จินผิงของจีน ที่การประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 แห่งครั้งนี้ ถูกจับตามมองอย่างใกล้ชิด
นักวิเคราะห์คาดว่าการเจรจาของทั้งสองอาจเปิดโอกาสให้กับการปรับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ที่ต่างใช้มาตรการการค้าจะตอบโต้กันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ผู้นำสหรัฐฯกล่าวว่าตนเปิดกว้างต่อการเจรจากับจีนให้เกิดความตกลงกันขึ้น
นายวินสตัน ลอร์ด (Winston Lord) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำกรุงปักกิ่ง กล่าวว่าสหรัฐฯควรพยายามไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดกัน
เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์กับวีโอเอไม่นานนี้ว่า แม้ว่าการพูดคุยกันบางครั้งอาจไม่เกิดผลตามที่ต้องการ แต่อย่างไรก็ควรติดตามความเป็นไปของกันและกัน ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส
ด้านผู้แทนการค้าสหรัฐฯ นายโรเบิร์ต ไลธีเซอร์ (Robert Lighthizer) ซึ่งจะร่วมประชุมจี 20 ด้วยกล่าวว่าตนจะพิจารณาเครื่องมือทั้งหมดที่ใช้ได้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการปฏิบัติต่อกันในเรื่องมาตรการภาษีสำหรับสินค้ายานยนต์
ปัจจุบัน จีนเก็บภาษีนำเข้า 40 เปอร์เซ็นต์ต่อสินค้ายานยนต์ของสหรัฐฯ เทียบกับเพียงร้อยละ 15 ที่จีนเก็บจากประเทศคู่ค้าอื่น ระดับภาษีดังกล่าวยังมากกว่าภาษีที่สหรัฐฯใช้กับรถยนต์จากจีน ที่อัตรา 27.5 เปอร์เซ็นต์
กระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า มาตรการต่อสินค้ายานยนต์จากอเมริกาเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ หลังจากที่รัฐบาลวอชิงตัน ขึ้นอัตราภาษีร้อยละ 10 กับสินค้าจากจีนรวมมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ และที่อเมริกาขู่ว่าจะเพิ่มการขึ้นภาษีอีกร้อยละ 25 หลังจากนั้น
นักวิเคราะห์เตือนถึงผลกระทบที่ร้ายแรงจากความขัดแย้งทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกสองอันดับแรก
เอเลนา ดักก้า (Elena Duggar) แห่งบริษัท Moody’s Investors Service กล่าวว่า หากการขึ้นภาษีสินค้าจากจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ที่อัตรา 25 เปอร์เซ็นต์ เกิดขึ้นจริง ในวันที่ 1 มกราคม เศรษฐกิจอเมริกันอาจเกิดอาการ ‘ช็อคครั้งใหญ่’ และส่งสัญญาณถึงการยกระดับความขัดแย้งทางการค้า ที่รุนแรง
เธอกล่าวว่า อุตสาหกรรมสหรัฐฯจำนวนมากใช้สินค้าจีนเป็นวัตถุดิบ อัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นคือภาระด้านต้นทุนต่อบริษัทอเมริกันเหล่านี้ และอาจนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ได้
อีกประเด็นความขัดแย้ง มาจากเรื่องความปลอดภัยบนระบบอินเตอร์เน็ต กล่าวคือรัฐบาลกรุงวอชิงตันกล่าวหา รัฐบาลปักกิ่งว่าขโมยข้อมูลลับทาเศรษฐกิจและการค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์
และจีนกับสหรัฐฯต่างถกเถียงกันเรื่องการละเมิดกฎขององค์การการค้าโลกหรือ WTO (World Trade Organization) รวมถึงเรื่องการขยายกิจกรรมทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้ด้วย
นักวิชาการ เดวิด แชมบัก (David Shambaugh) แห่งมหาวิทยาลัย George Washington กล่าวว่าปรากฏการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ความตึงเครียดและความสลับซับซ้อน ถือเป็น ‘ความปกติรูปแบบใหม่’ ในความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ
เขากล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้คงถือเป็นความสัมพันธ์ขาลงที่ร้ายแรง ซึ่งจะไม่พ้นผ่านไปเร็วๆนี้ และเปรียบผู้ที่คิดว่า อีกไม่นานสหรัฐฯและจีนจะกลับมาสมานฉันท์กันว่ากำลังฝันอยู่
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายรายเห็นว่า ทั้งสหรัฐฯและจีนไม่ได้ต้องการเดินสู่ความตึงเครียดขั้นสุด โดยอดีตทูตสหรัฐฯประจำปักกิ่ง วินสตัน ลอร์ด กล่าวว่า แม้การแข่งขันเป็นเรื่องที่หลีกเลียงไม่ได้ แต่ควรพยายามรักษาบรรยากาศที่สันติ และมองหาพื้นที่ร่วม ที่สองประเทศอาจสามารถทำงานด้วยกันได้
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Nike Ching)