ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน และประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง ตกลงที่จะพบหารือกันในเดือนหน้าที่ยุโรป เพื่อบรรเทาความขัดแย้งในประเด็นการสร้างเรือดำน้ำให้กับออสเตรเลีย
แถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุว่า ประธานาธิบดีไบเดนและประธานาธิบดีมาคร็องได้พูดคุยทางโทรศัพท์กันในวันพุธ และได้เห็นพ้องร่วมกันว่า ควรมีการเจรจาอย่างเปิดเผยระหว่างประเทศพันธมิตรเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของทุกฝ่าย
ผู้นำสหรัฐฯ ยังแสดงความเสียใจต่อการจัดการสัญญาซื้อเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างออสเตรเลียกับอังกฤษและสหรัฐฯ จำนวน 8 ลำ ซึ่งทำให้รัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจยกเลิกสัญญาซื้อเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้า 12 ลำจากฝรั่งเศส มูลค่า 66,000 ล้านดอลลาร์ ที่ทำไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016
การยกเลิกสัญญาซื้อเรือดำน้ำสร้างความไม่พอจอย่างยิ่งให้แก่ฝรั่งเศส จนทางการฝรั่งเศสได้เรียกตัวทูตฝรั่งเศสประจำกรุงวอชิงตันและกรุงแคนเบอร์รากลับประเทศ แต่ทำเนียบขาวระบุในวันพุธว่า ปธน.มาคร็องได้ตัดสินใจส่งตัวทูตฝรั่งเศสกลับมายังกรุงวอชิงตันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ฌอง-อีฟส์ เลอ เดรียง แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อ "การเสแสร้ง" ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของฝรั่งเศส
โดยรัฐมนตรีเลอ เดรียง กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่สหประชาชาติในสัปดาห์นี้ว่า สหรัฐฯ ลอบทำสัญญาลับหลังฝรั่งเศสและซุกซ่อนเอาไว้เป็นเวลาหลายเดือน
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีไบเดนและประธานาธิบดีมาคร็องจะพบกันในช่วงปลายเดือนตุลาคม ระหว่างการประชุมกลุ่มจี-20 ที่กรุงโรมในช่วงเวลานั้น