มีชาวอเมริกันจำนวนมากขึ้นที่กำลังตั้งคำถามถึงคุณค่าของปริญญาสี่ปีในมหาวิทยาลัย เนื่องจากค่าเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาที่มีราคาสูงขึ้น หลายคนกล่าวว่านักเรียนต้องมีหนี้สินท่วมตัวแต่กลับไม่มีเส้นทางในหน้าที่การงานที่ชัดเจน
บริษัทวิจัย Gallup ได้สอบถามความคิดเห็นของครอบครัวชาวอเมริกันเกี่ยวกับปัญหานี้เมื่อเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ปี ค.ศ. 2020 และพบว่า 46% ของครอบครัวคนอเมริกัน กล่าวว่า พวกเขาต้องการให้ลูกของตนทำอย่างอื่นมากกว่าเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะไม่มีอุปสรรคทางการเงินใด ๆ เลยก็ตาม
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษานี้พบว่า ผู้ที่จบปริญญา 4 ปีเต็มจากมหาวิทยาลัยมีรายได้ตลอดชีพมากกว่าผู้ที่มีการศึกษาน้อยกว่า ส่วนผู้ที่มีประกาศนียบัตรระดับมัธยมปลาย ประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือจบปริญญา 2 ปีจากมหาวิทยาลัย มีรายได้โดยเฉลี่ยน้อยกว่า
รายได้เทียบต้นทุนการเรียนในมหาวิทยาลัย
รายงานจาก New York Federal Reserve หรือ ระบบธนาคารกลางนครนิวยอร์ก ระบุว่า การลงทุนเพื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมักจะได้รับผลตอบแทนที่ดี นอกจากนี้ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนสูงกว่าต้นทุนค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยโดยเฉลี่ย 14 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ รายได้เฉลี่ยสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจะอยู่ที่ประมาณ 78,000 ดอลลาร์ต่อปี เทียบกับผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายซึ่งมีรายได้เฉลี่ยเพียง 45,000 ดอลลาร์ต่อปี
อย่างไรก็ตาม คำว่า “โดยเฉลี่ย” ไม่ได้หมายความว่าผลตอบแทนจากการศึกษาระดับปริญญาตรีนั้นจะดีเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยที่เข้าเรียน หนี้สะสม และสาขาวิชาที่เลือก ที่จะเป็นตัวช่วยกำหนดผลตอบแทนในการลงทุนของพวกเขา
นอกจากนี้เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และเพศของนักเรียน ก็มีอิทธิพลในเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
เงินกู้เพื่อการศึกษา
Student Loans หรือเงินที่นักเรียนกู้มาเพื่อเป็นค่าเล่าเรียนนั้นอาจส่งผลต่อมูลค่าของปริญญาตรี กล่าวคือ การกู้เงินเรียนนั้นเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยง และยากยิ่งกว่าในการชำระคืน
ข้อมูลของรัฐบาลกลางแสดงให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ นั้นเพิ่มขึ้น 117 เปอร์เซนต์ จากปี 1985 ถึง 2019 แต่ค่าจ้างกลับเพิ่มขึ้นเพียง 19 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกัน
การกู้เงินเรียนยังคงเป็นวิธีหลักสำหรับนักเรียนส่วนใหญ่ในการชำระค่าเล่าเรียน การที่จะทำให้ปริญญาของตนมีความคุ้มค่า นักเรียนจะต้องได้รับเงินเดือนเพียงพอที่จะจ่ายคืนแก่ผู้ให้กู้ การชำระเงินกู้ที่นักเรียนสามารถจ่ายได้คือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้หลังหักภาษี นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมการสำเร็จการศึกษาจึงมีความสำคัญมาก
การมีหนี้สินจำนวนมากแต่ไม่มีใบปริญญา คือผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย
ปัจจัยด้านสาขาที่เรียน
สาขาที่เรียนมีผลต่อรายได้ไม่น้อยเช่นกัน โดยบางสาขาวิชาทำรายได้มากกว่าสาขาอื่นๆ กล่าวคือ ผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยในช่วงกลางของอาชีพการงานสูงที่สุด คือผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์
ศูนย์การศึกษาและแรงงานของมหาวิทยาลัย Georgetown University กล่าวว่า คนทำงานที่จบสาขาดังกล่าวมีรายได้เฉลี่ย 76,000 ดอลลาร์ต่อปี ตามด้วยผู้ที่จบการศึกษาด้านธุรกิจอยู่ที่ 67,000 ดอลลาร์ต่อปี และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข 65,000 ดอลลาร์ต่อปี
สำหรับรายได้เฉลี่ยต่ำสุด คือผู้ที่จบสาขาศิลปะหรือมนุษยศาสตร์อยู่ที่ระดับ 51,000 ดอลลาร์ต่อปี เช่นเดียวกับผู้ที่จบด้านการสอนซึ่งมีรายได้เฉลี่ย 46,000 ดอลลาร์ต่อปี
ปัจจัยด้านที่อยู่อาศัย
สถานที่อยู่อาศัยก็เป็นปัจจัยสำคัญของเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 สถาบัน Thomas B. Fordham ได้เผยแพร่การศึกษาเกี่ยวกับรายได้ของบัณฑิตมหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่าคนในเมืองได้รับค่าจ้างสูงกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรน้อย
ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีตามเมืองต่าง ๆ จะมีรายได้โดยเฉลี่ย 95,229 ดอลลาร์ เพราะเมืองเหล่านั้นมีงานที่ต้องการวุฒิปริญญามากกว่าเมืองเล็ก ๆ โดยนักศึกษาที่จบสาขาวิชาเทคโนโลยี การเงิน หรือการตลาด จะได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น
ความไม่เสมอภาคด้านการศึกษา
Marshall Anthony Jr แห่งศูนย์ Center for American Progress กล่าวว่า ในบางครั้งการศึกษาในระดับปริญญาตรีก็อาจทำให้ความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องรายได้และเชื้อชาติย่ำแย่ลง นักเรียนที่ยากจนจะมีปัญหาในเรื่องการชำระหนี้ ส่งผลให้พวกเขาประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมากขึ้น
ทั้งนี้ นักเรียนผิวดำมักมีหนี้สินมากกว่านักเรียนอเมริกันผิวขาวโดยเฉลี่ย 25,000 ดอลลาร์ สถาบัน Brookings Institution พบว่า หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว คนอเมริกันผิวดำมีหนี้ที่กู้มาเป็นค่าเล่าเรียนประมาณ 52,726 ดอลลาร์ ในขณะที่นักศึกษาผิวขาวมีหนี้ประมาณ 28,006 ดอลลาร์
ซึ่งหนี้ที่สูงกว่าและค่าจ้างที่ต่ำกว่า หมายความว่าผู้กู้ผิวสีจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปด้วย
(ที่มา: The Associated Press)