สองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดด้วย คือ สหรัฐฯ กับจีน ประกาศนโยบายต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกคนละแนวทาง ที่การประชุมสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติ หรือ UNGA ที่นครนิวยอร์ก ในวันอังคาร
ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง สร้างความแปลกใจให้แก่ผู้ร่วมประชุมที่สหประชาชาติเป็นปีที่สองติดต่อกัน เมื่อประกาศว่าจีนจะยุติการสนับสนุนทางการเงินแก่โรงงานที่ใช้ถ่านหินในต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ประกาศแผนเพิ่มเงินช่วยเหลือเป็นสองเท่าแก่ประเทศยากจนภายในปี ค.ศ. 2024 รวม 11,400 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยให้ประเทศเหล่านั้นเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและจัดการกับผลกระทบของภาวะโลกร้อน
คำประกาศของผู้นำจีนและสหรัฐฯ ถือเป็นการกระตุ้นความสนใจก่อนการประชุมหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก COP26 จะมีขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ ในอีกไม่ถึงหกสัปดาห์
เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส กล่าวยินดีต่อคำประกาศของผู้นำทั้งสอง แต่ก็ยินยันว่าเรายังคงมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากเพื่อให้การประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ ประสบความสำเร็จ
นโยบายเลิกหนุนถ่านหินของจีน
คำประกาศของปธน.สี ในวันอังคาร อาจส่งผลกระทบต่อโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 47 แห่งใน 20 ประเทศซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวการสำคัญที่ปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลก
โจแอนนา ลิวอิส ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวว่า คำประกาศนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัจจุบันจีนคือผู้สนับสนุนด้านเงินทุนรายใหญ่สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศต่าง ๆ
ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี ค.ศ. 2013 - 2019 จีนอุดหนุนทางการเงินราว 13% ให้แก่โรงไฟฟ้าถ่านหินนอกประเทศจีน ซึ่งมากกว่าประเทศอื่น ๆ หลายเท่า ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพิ่งประกาศเมื่อต้นปีนี้ว่าได้ยกเลิกการสนับสนุนด้านเงินทุนแก่โรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คุณไบฟอร์ด เจิ้ง นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน E3G ระบุว่า แม้จีนได้เลิกสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศอื่น แต่จำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินในจีนเองกลับเพิ่มขึ้นจำนวนมากเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งการที่นโยบายใหม่ของรัฐบาลปักกิ่งจะได้ผลนั้นจำเป็นต้องมีการหยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจีนเองพร้อมไปกับการไล่ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่า ๆ ด้วย