ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ฟาร์มสาหร่ายอัจฉริยะ! เปลี่ยน “เสียงจราจร” ให้เป็น “พลังงานชีวภาพ”


แฟ้มภาพ - ชาวเนปาลทำความสะอาดสาหร่าย ในกาฐมาณฑุ เนปาล เมื่อ 27 ก.ค. 2021 (เอพี)
แฟ้มภาพ - ชาวเนปาลทำความสะอาดสาหร่าย ในกาฐมาณฑุ เนปาล เมื่อ 27 ก.ค. 2021 (เอพี)

ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยน “มลภาวะทางเสียง” จากการจราจรที่แออัดตามท้องถนน ให้กลายเป็น “เชื้อเพลิงชีวภาพ” ที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เทคโนโลยีอัลจีเวฟ (AlgaeWave) คือระบบฟาร์มสาหร่ายแบบวงจรปิด ที่ดึงเอาเสียงรบกวนจากการจราจร มาช่วยทำให้สาหร่ายขนาดเล็กเติบโตได้ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การผลิตชีวเคมี รวมถึงเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีความยั่งยืน นักวิจัยที่พัฒนาเทคโนโลยีนี้ชี้ว่า ระบบจะแปลงสัญญาณเสียงรบกวนที่ได้ยินดังชัดเจน ให้เป็นความถี่เฉพาะที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของสาหร่ายขนาดเล็ก

บิงชิง ยาง นักศึกษาวิศวกรรม ด้านการออกแบบนวัตกรรม ผู้พัฒนาเทคโนโลยีอัลจีเวฟ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า "มันถือเป็นการปฏิวัติ โดยเปลี่ยนเสียงให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง (เสียงที่ดักจับได้) จะถูกนำไปเพิ่มการผลิตมวลชีวภาพ ของสาหร่ายขนาดเล็ก"

ทีมงานจากหลักสูตรที่ดำเนินการโดย วิทยาลัย Royal College of Art (RCA) และมหาวิทยาลัย University College London (UCL) เผยว่าได้รับแรงบันดาลใจในการริเริ่มเทคโนโลยีนี้ ขณะที่เดินทางด้วยรถไฟใต้ดินในกรุงลอนดอน และได้ยินเสียงดังรอบตัว

ระบบถูกออกแบบมาสำหรับติดตั้งบริเวณริมถนนที่มีความพลุกพล่าน รูปทรงชิ้นส่วนแบบหกเหลี่ยมทำให้สามารถวางซ้อนกันได้ ให้กลายเป็นกำแพงกันเสียงและฟาร์มสาหร่ายที่มีจำนวนมากถึงสองเท่า

อัลจีเวฟ ประกอบด้วยสามส่วนหลัก ได้แก่ “ลำโพงทวีตเตอร์” (tweeter) ที่ส่งเสียงไปยัง “เครื่องสะท้อนเสียง” ที่จะช่วยปรับความถี่ของเสียงให้อยู่ในระดับ 400Hz และใช้ลวดโลหะขยายเสียงให้ดังขึ้น ก่อนจะส่งสัญญาณเสียงไปที่จุดสุดท้าย “ตัวเชื่อมรูปตัว T” ที่ติดตั้งเยื่อกรอง ปล่อยให้เสียงเข้าไปสู่ฟาร์มสาหร่ายในท่อ ที่ตั้งเรียงรายอยู่ด้านหลัง

ไม่เพียงแต่ใช้ประโยชน์จากเสียงรบกวนเท่านั้น แต่เทคโนโลยีดังกล่าว ยังดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อนุภาคขนาดเล็ก และแสงแดด มาช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเลี้ยงสาหร่าย อีกทั้งเป็นการฟอกอากาศให้กับเมือง โดยการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และให้เป็นออกซิเจน

ทีมงานเผยว่า เมื่อเทียบกับการทำฟาร์มสาหร่ายแบบดั้งเดิม อัลจีเวฟช่วยเพิ่มการผลิตมวลชีวภาพได้ถึง 30% และลดต้นทุนลง 27% วิธีดังกล่าวยังส่งเสริมความยั่งยืนของเชื้อเพลิงชีวภาพ ชีวเภสัชภัณฑ์ และการผลิตอาหาร

ในเดือนธันวาคม ปี 2023 ระหว่างการประชุม COP28 ที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อัลจีเวฟถูกนำไปจัดแสดง เป็นส่วนหนึ่งของ “เทคโนโลยีต้นแบบเพื่อมนุษยชาติ”

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG