ในขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพยายามอย่างยิ่งในการรณงค์ให้ประชาชนมีบุตร เพื่อยุติการลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราการเกิด แต่ดูเหมือนนโยบายของรัฐบาลยังไม่ถูกใจคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่วัย 20 - 30 กว่าปี
เกาหลีใต้มีแผนจะเปิดตัวกระทรวงใหม่ที่จะทำหน้าที่หลักคือการจัดทำนโยบายเพิ่มจำนวนประชากร แก้วิกฤติอัตราการเกิดของทารกลดลงในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย
แต่ พาร์ค ยีออน อินฟลูเอนเซอร์ด้านแฟชั่นวัย 28 ปี ซึ่งนิยมการเดินทางท่องเที่ยวและการแต่งตัว บอกว่าสำหรับเธอแล้ว การใช้ชีวิตแบบ YOLO (you only live once) หรือ "เกิดมาแค่ครั้งเดียว" คือสิ่งที่เธอเป็น และการให้รางวัลกับชีวิตก็ทำให้เธอไม่มีเงินเก็บพอในแต่ละเดือนสำหรับการแต่งงานหรือการมีบุตร
"แต่งงานเป็นเรื่องของอนาคต แต่ตอนนี้การมีความสุขคือสิ่งสำคัญกว่า" พาร์คกล่าวกับรอยเตอร์
ทั้งนี้ อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ลดลงต่ำสุดเป็นสถิติใหม่อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลกด้วย
นักสังคมวิทยาชี้ว่า ไลฟ์สไตล์ของคนหนุ่มสาววัย 20 - 30 ปีในเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ในเจเนเรชั่น Y และ Z เน้นการจับจ่ายมากขึ้นเพื่อซื้อความสุขและอดออมน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประชากรในประเทศ และน้อยกว่าคนรุ่นเดียวกันในประเทศอื่น
จุง แจ-ฮูน อาจารย์ด้านสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสตรีกรุงโซล (Seoul Women's University) กล่าวว่า "พวกเขาไล่ล่าหาสถานะทางสังคม พฤติกรรมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแสดงให้เห็นว่าคนหนุ่มสาวเหล่านี้ต้องการโชว์ความสำเร็จในโลกออนไลน์มากกว่าการตั้งเป้าหมายในการสร้างครอบครัวและมีลูก"
อาจารย์จุง แจ-ฮูน กล่าวว่า ที่ผ่านมา นโยบายสนับสนุนการมีบุตร ไม่ว่าจะเป็น การอุดหนุนทางการเงินแก่ครอบครัวที่มีบุตร การหยุดงานนานขึ้นสำหรับเลี้ยงลูก หรือการนั่งแท็กซี่ฟรี ต่างประสบความล้มเหลว เนื่องจากทัศนคติที่เปลี่ยนไปดังกล่าว
ข้อมูลของธนาคารกลางเกาหลีใต้ชี้ว่า ปัจจุบันคนทำงานในวัย 30 ปีมีเงินออมลดลงอยู่ที่ระดับ 28.5% เมื่อเทียบกับ 29.4% เมื่อ 5 ปีก่อน ในขณะที่กลุ่มประชากรอื่น ๆ กลับมีเงินออกเพิ่มขึ้นในช่วงเดียวกัน
ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายของคนวัย 20-30 กว่าปี ตามห้างสรรพสินค้าและโรงแรมต่าง ๆ อยู่ในระดับสูงสุดเทียบกับประชากรวัยอื่น โดยเฉพาะค่าเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็น 40% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
เมื่อเทียบกับประเทศอื่น รายงานของธนาคาร Commonwealth Bank of Australia ชี้ว่า คนหนุ่มสาววัย 25-29 ปีในออสเตรเลีย ใช้จ่ายลดลง 3.5% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากแรงกดดันด้านเศรษฐกิจและค่าครองชีพ
ขณะที่งานวิจัยของ Morgan Stanley ระบุว่า ชาวเกาหลีใต้มีปริมาณการใช้จ่ายต่อหัวเพื่อซื้อสินค้าหรูหรามากที่สุดในโลก และยังเป็นตลาดใหญ่ของบริษัทผลิตสินค้าราคาแพงรายใหญ่ของโลกด้วย
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องความท้าทายทางเศรษฐกิจก็ส่งผลต่อทัศนคติของคนรุ่นใหม่เช่นกัน
คนหนุ่มสาวจำนวนมากในเกาหลีใต้ระบุว่า เหตุผลสำคัญที่สุดที่ไม่มีบุตร คือปัญหาทางการเงิน อ้างอิงจากรายงานวิจัยของ PMI Co. เมื่อเดือนพฤษภาคม โดย 46% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่า ความไม่แน่นอนในตลาดงาน และค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา คือเหตุผลอันดับหนึ่งของการตัดสินใจไม่มีลูก
โดยผลการสำรวจของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) เมื่อปี 2021 ชี้ว่า เกาหลีใต้เป็นเพียงประเทศเดียวในจำนวนประเทศพัฒนาแล้ว 17 ประเทศ ที่ระบุถึง "การมีชีวิตที่มีความหมาย" ว่ารวมถึง 'การมีความเป็นอยู่ที่ดีทางวัตถุ' รวมอยู่ด้วย ขณะที่ประเทศอื่นล้วนระบุถึงการมีครอบครัวและการมีสุขภาพที่ดีเป็นอันดับต้น ๆ
- ที่มา: รอยเตอร์