สหรัฐจะดำเนินการต่อไปอย่างไรในอิรัค?

หนึ่งวันหลังจากประธานาธิบดีบุชแถลงเนื่องในวาระครบรอบปีที่ห้าของสงครามในอิรัก เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหมอเมริกันบางส่วนพบหารือกันเพื่อจัดทำแผนการขั้นต่อไปสำหรับสงครามในอิรัก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอเมริกันโรเบิร์ต เกตส์นำที่ปรึกษาระดับสูงฝ่ายพลเรือนและทหารมาพบหารือกับผู้บัญชาการทหารอเมริกันจากกรุงแบกแดดที่กระทรวงกลาโหมอเมริกัน

เจ้าหน้าที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการพบหารือดังกล่าวเพียงเล็กน้อย โดยกล่าวแต่เพียงว่าการพบหารือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเตรียมข้อแนะนำให้กับประธานาธิบดีบุชเกี่ยวกับจำนวนทหารอเมริกันสำหรับทำหน้าที่ในอิรักในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

พลเอกเดวิด ปเตรอัส ผู้บัญชาการทหารอเมริกันในอิรักและเอกอัครราชทูตอเมริกัน ไรอัน คร็อกเกอร์จะต้องเสนอรายงานสำหรับช่วงหกเดือน ต่อรัฐสภาในอีกสามสัปดาห์ข้างหน้า ก่อนหน้านั้นรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงกลาโหมอเมริกันโรเบิร์ต เกตส์กล่าวว่าจะส่งรายงานของผู้บัญชาการทหารอเมริกันแต่ละคนผู้มาร่วมการพบหารือเมื่อวันพฤหัสบดีและข้อแนะนำของตัวเขาเองไปให้ประธานาธิบดีบุชด้วย
การณ์จะเป็นอย่างไรในเวลาข้างหน้ายังเป็นเรื่องที่ยังคงคาดทายกันอยู่ แต่ที่รู้กันอยู่แน่ๆ มีอยู่สองเรื่อง กล่าวคือ ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงในเวลาข้างหน้า ทหารอเมริกันที่ประธานาธิบดีบุชส่งไปเสริมกำลังเป็นพิเศษที่อิรักเมื่อปีที่แล้วจะเดินทางกลับสหรัฐภายในเดือนกรกฎาคมและจะไม่มีการส่งกำลังไปทดแทน และหลังจากนั้นจะมีการหยุดถอนทหารอเมริกันไปสักพักหนึ่งเพื่อที่ว่าบรรดาผู้บัญชาการจะสามารถประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยครั้งใหม่ได้ คาดว่า จำนวนทหารอเมริกันในอิรักจะลดลงจากราวๆ 160,000 คนลงเหลือราวๆ 140,000 คน พลตรี ไมค์ โอตส์ ซึ่งมิได้มาร่วมการพบหารือเมื่อวันพฤหัสบดีจะเป็นศูนย์กลางของการประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยดังกล่าว เขาจะเข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการของกองกำลังพันธมิตรซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ทางบริเวณห่างลงไปทางใต้ของกรุงแบกแดดนั้นในเดือนพฤษภาคม

เขากล่าวว่าการพยายามประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับฝ่ายเราเป็นเรื่องที่ฉลาดสุขุม เขากล่าวด้วยว่าเรากำลังจะลดกำลังลงและประเมินดูว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างและมีผลกระทบจากเรื่องนั้นอย่างไรบ้าง และว่าเขาไม่ทราบว่าการประเมินสถานการณ์จะดำเนินไปนานเท่าใด

ไม่มีใครทราบว่าการหยุดถอนทหารจะดำเนินไปนานเท่าใด แต่ประธานาธิบดีบุชกล่าวไว้ชัดในคำปราศรัยเนื่องในวาระครบรอบปีที่ห้าของสงครามในอิรักเมื่อวันพุธว่าท่านไม่ต้องการรีบเร่งดำเนินกระบวนการดังกล่าว

ท่านประธานาธิบดีกล่าวว่าเราเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราถอนทหารอเมริกันกลับประเทศเร็วเกินควร ท่านประธานาธิบดีกล่าวว่าผู้ก่อการร้ายและผู้ฝักใฝ่ความรุนแรงสุดขั้วจะเข้ามาแทน ที่ ตั้งแหล่งหลบภัยที่ปลอดภัยและใช้ที่เหล่านั้นแพร่ความวุ่นวายและการฆ่าฟันประชาชนและว่าพลเอก ปเตรอัสเตือนไว้แล้วว่าการถอนกำลังเร็วเกินไปยังผลให้เกิดสถานการณ์แบบนั้น

นักวิเคราะห์ผู้มีทัศนะทำนองเดียวกันนั้นกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางคนที่วิพากษ์ตำหนิเรื่องการทำสงครามในอิรักและไม่เชื่อว่าการส่งทหารไปเสริมกำลังจะเกิดประโยชน์นั้นเห็นด้วยว่าจะต้องรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่มีเพิ่มขึ้นมานั้นไว้ แต่พวกเขาเตือนด้วยว่าการจะมีเสถียรภาพระยะยาวในอิรักได้นั้นจะต้องมีการประนีประนอมรอมชอมทางการเมืองในอิรักด้วย

คุณมิเชล ฟลาวนอยแห่งศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยใหม่แห่งอเมริกากล่าวว่าปัจจัยต่างๆในอิรักจะเป็นเครื่องกำหนดว่าอิรักจะก้าวหน้าหรือถอยหลังไปสู่สงครามกลางเมือง และการที่ให้ทหารอเมริกันคงประจำอยู่ในอิรักใดๆก็ไม่สามารถป้องกันเรื่องนั้นได้ถ้าไม่มีการตัดสินใจทางการเมืองขั้นมูลฐาน
ผู้บัญชาการ เจ้าหน้าที่กลาโหมและนักวิเคราะห์ล้วนแต่กล่าวว่าไม่ว่ากองกำลังอเมริกันในอิรักจะมีจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม หน้าที่ของทหารอเมริกันจะต้องเปลี่ยนไปเป็นกองกำลังสนับสนุนโดยมีกองกำลังอิรักเป็นแกนนำ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่กล่าวว่าการช่วยเหลือกองกำลังอิรักนั้นหมายถึงว่าอย่างน้อยๆก็ต้องให้ผู้ฝึกอบรม การสนับสนุนทางอากาศและการส่งกำลังบำรุงและการช่วยแก้ไขได้อย่างรวดเร็วในยามที่เกิดวิกฤติการณ์ และเรื่องนั้นขึ้นอยู่กับสมมุติฐานที่ว่ากองกำลังอิรักจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ส่วนใหญ่ คือต่อสู้กับพวกแข็งข้อต่อต้านและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้าน เมือง ถึงแม้นักวิเคราะห์มิเชล ฟลาวนอยจะกล่าวว่าทหารอเมริกันไม่ว่าจะมากมายแค่ไหนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆของอิรักได้ถ้าชาวอิรักเองไม่เคลื่อนไหวเพื่อทำความปรองดองกันและยังมองไม่เห็นด้วยว่าจะรักษาเสถียรภาพในอิรักไว้ได้อย่างไรถ้าไม่มีการคงทหารอเมริกันไว้อย่างเป็นกอบเป็นกำในอิรักอย่างน้อยก็ตลอดปีหน้า หลังจากประธานาธิบดีอเมริกันคนใหม่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมปีหน้าแล้วนานทีเดียว

คุณมิเชล ฟลาวนอยและผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์คนอื่นๆพยากรณ์ว่าจะมีการถอนทหารอเมริกันออกจากอิรักต่อไปอีกหลังจากมีการหยุดพักเรื่องนั้นตอนปลายฤดูร้อนและก่อนสิ้นปีนี้ ตราบใดที่ไม่มีวิกฤติการณ์ แต่พวกเขาคาดหมายด้วยว่าจำนวนทหารอเมริกันที่จะลดลงนั้นน่าจะมีจำนวนน้อยขณะผู้ที่วางนโยบายของรัฐบลประธานาธิบดีบุชติดตามดูระดับความสามารถของกองกำลังอิรักและการทำความปรองดองสมานฉันท์ทั่วอิรักนั้นอย่างระมัดระวัง นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลอเมริกันชุดใหม่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะมีการถอนทหารอเมริกันอย่างขนานใหญ่หรือไม่นั่นเอง