ลิ้งค์เชื่อมต่อ

บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใหญ่ของสหรัฐฯ สามฉบับวิจารณ์การประกาศกฎอัยการศึกในประเทศไทย


Thai soldiers take their positions in the middle of a main intersection in Bangkok's shopping district May 20, 2014. Thailand's army declared martial law on Tuesday to restore order after six months of anti-government protests which have left the country
Thai soldiers take their positions in the middle of a main intersection in Bangkok's shopping district May 20, 2014. Thailand's army declared martial law on Tuesday to restore order after six months of anti-government protests which have left the country
หนังสือพิมพ์ใหญ่ของสหรัฐฯ สามฉบับคือ New York Times, Wall Street Journal และ Washington Post แสดงความเห็นในบทบรรณาธิการประจำวันที่ 20 พฤษภาคมเกี่ยวกับการประกาศกฎอัยการศึกในประเทศไทย โดยหนังสือพิมพ์ New York Times ในบทบรรณาธิการชื่อ “The Military, Again, Takes Over in Thailand” เห็นว่า การประกาศกฎอัยการศึกภายใต้เหตุผลเรื่องการฟื้นฟูความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยครั้งนี้คงจะเรียกเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากการปฏิวัติ และว่าพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้ระบุว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการประนีประนอมทางการเมือง หรือจะคืนอำนาจการควบคุมให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อใด New York Times ชี้ด้วยว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ควรแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการกระทำครั้งนี้และกองทัพควรคืนอำนาจการปกครองให้กับพลเรือนผ่านการเลือกตั้งโดยทันที

ส่วนหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจ Wall Street Journal แสดงความเห็นเช่นกันในบทบรรณาธิการชื่อ “Another Coup in Thailand” ว่าไม่มีเหตุผลสมควรในการใช้กฎอัยการศึกครั้งนี้ และว่าหากมีสูญญากาศทางการเมืองเกิดขึ้นเรื่องนี้ก็เป็นผลมาจากกองทัพบกและสถาบันต่างๆ ซึ่งควบคุมโดยกลุ่มชนชั้นนำนั่นเอง Wall Street Journal เสริมด้วยว่าความวิตกกังวลของนักลงทุนจากการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ประท้วงเมื่อปี 2553 และการที่ผู้นำกลุ่มคนเสื้อแดงบางคนประกาศว่าพร้อมที่จะทำสงครามกลางเมืองมีส่วนทำให้เศรษฐกิจของไทยหดตัวลง 0.6 % ในช่วงไตรมาศแรกของปี

สำหรับ Washington Post ในบทบรรณาธิการชื่อ “Martial Law in Thailand is Worrisome But Offers an Opportunity for Accord” ก็ชี้ว่า ขณะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันอังคารจะนับเป็นการทำรัฐประหารอีกครั้งหรือไม่ แต่หากผบ.ทบ.ของไทยมีความตั้งใจจริงเพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลางโดยไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องการก้าวเข้ามาของกองทัพครั้งนี้ก็จะเป็นผลดี แต่หากมีขึ้นเพื่อช่วยให้กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลประสบความสำเร็จในการได้รัฐบาลซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้วก็จะถือว่าเป็นการปฏิวัติ และสมควรที่สหรัฐฯ กับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ จะตอบโต้อย่างรุนแรง หนังสือพิมพ์ Washington Post สรุปในตอนท้ายว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งลังเลที่จะเรียกการยึดอำนาจในอียิปต์เมื่อปีที่แล้วว่าเป็นการปฏิวัติได้ส่งสัญญาณที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงว่ารัฐบาลอเมริกันคาดหวังว่ากองทัพไทยจะไม่บ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย และเน้นความสำคัญของการเลือกตั้งเพื่อช่วยกำหนดเจตนารมณ์ของประชาชนไทย ซึ่งหากผู้นำกองทัพไทยไม่เคารพในหลักการดังกล่าวแล้วรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่ควรลังเลที่จะระงับความช่วยเหลือและความร่วมมือทางทหารกับประเทศไทย
XS
SM
MD
LG