ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศซึ่งร่วมประชุมในมาเลเซียในสัปดาห์นี้ กำลังหารือเรื่องการเปิดตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปีหน้า รวมทั้งความกังวลเรื่องท่าทีก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้และความแตกแยกของอาเซียนในประเด็นดังกล่าว
ระหว่างการประชุมสุดยอดสมาคมอาเซียนที่มาเลเซียในสัปดาห์นี้ นายกฯ มาเลเซีย Najib Razak กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่าผู้นำอาเซียนพยายามโน้มน้าวให้จีนเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น จากการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับประเทศสมาชิกอาเซียน เพราะหากเสถียรภาพของอาเซียนสั่นคลอน จะส่งผลกระทบไปถึงจีนอย่างเลี่ยงไมได้
แต่จุดยืนดังกล่าวของอาเซียนกลับถูกตอบโต้ทันทีจากจีน โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน Hong Lei กล่าวว่าจีนมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความเห็นของบรรดาผู้นำประเทศอาเซียนที่ร่วมประชุมอยู่ที่มาเลเซีย โฆษก Hong Lei กล่าวว่าจุดยืนของจีนในเรื่องทะเลจีนใต้มีความมั่นคงและชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสมาคมอาเซียน และว่าจีนต้องการแก้ไขข้อพิพาทเรื่องนี้โดยเคารพต่อความจริงทางประวัติศาสตร์และกฏหมายระหว่างประเทศ
เป็นเวลา 13 ปีมาแล้วที่อาเซียนและจีนพยายามจัดทำ Code of Conduct หรือระเบียบปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้ เพื่อใช้เป็นแนวทางจัดการข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อน และเพื่อป้องกันผลประโยชน์ด้านดินแดนและเศรษฐกิจของประเทศที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีความคืบหน้าเกิดขึ้นมากนัก
นักเศรษฐศาสตร์ไทย รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ให้ความเห็นว่าจีนน่าจะดำเนินนโยบายถมพื้นที่และปลูกสิ่งก่อสร้างในแถบทะเลจีนใต้ต่อไป แม้จะถูกต่อต้านจากผู้นำอาเซียนบางประเทศ และเชื่อว่าจีนได้ใช้นโยบายทางเศรษฐกิจและความมั่นคง เป็นทั้งบทลงโทษและการตบรางวัลสำหรับแต่ละประเทศไปพร้อมๆกัน
รศ.ดร.สมภพ ชี้ว่าจีนได้ประกาศโครงการเส้นทางสายไหมทางทะเลและจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งใหม่ AIIB ขึ้น ในขณะเดียวกันก็เคลื่อนไหวรุกล้ำเข้าไปในทะเลจีนใต้อย่างเงียบๆ เรียกได้ว่าเป็นนโยบาย stick and carrot หรือการลงโทษพร้อมไปกับการตบรางวัล ซึ่งเชื่อได้ว่าจีนจะไม่ยอมถอยจากนโยบายดังกล่าวแน่นอน
นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ระบุว่าจุดยืนของจีนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งยิ่งขึ้นในทะเลจีนใต้ ตลอดจนความแตกแยกในสมาคมอาเซียน ระหว่างประเทศที่มีข้อพิพาทกับจีน เช่นฟิลิปปินส์และเวียดนาม กับประเทศที่ต้องพึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ลาว พม่า และกัมพูชา
ขณะเดียวกันในการประชุมอาเซียนครั้งนี้ ประธานอาเซียนคือมาเลเซียได้เสนอรายงานคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่า ศก.ของอาเซียนปีนี้จะเติบโตเกือบ 5% เนื่องจากปริมาณการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นมาก และยังคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป เมื่อมีการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC แล้ว
ถึงกระนั้น รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมสังเกตการณ์การประชุมอาเซียนครั้งนี้ด้วย เชื่อว่าปัญหาภายในของหลายประเทศในอาเซียน และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการผลักดันให้ AEC ก้าวไปข้างหน้า
รศ.ดร.ฐิตินันท์ ระบุว่าความท้าทายทางการเมืองภายในพม่า มาเลเซีย และไทยประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองและภูมิศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ และความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของ AEC ก็ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของสมาคมอาเซียนถดถอยลง
นั่นจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับลาว ซึ่งจะรับหน้าที่เป็นประธานอาเซียนในปีหน้า เพราะในด้านหนึ่งลาวต้องพยายามประสานความเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องพึ่งพาจีนซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับหนึ่งในลาวด้วย
ผู้สื่อข่าว Ron Corben รายงานจากกรุงเทพฯ / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง