ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: ปูตินบิดเบือนแผนติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในอวกาศของรัสเซีย จริงหรือไม่


ภาพที่ศิลปินรายหนึ่งสร้างขึ้นในเดือน ก.พ. 2558 ที่แสดให้เห็นดาวเทียม SWOT (Surface Water and Ocean Topography) ที่มีระบบเรดาร์ล้ำยุค ซึ่งได้รับการออกแบบและสร้างที่ห้องทดลองปฏิบัติการ Jet Propulsion ของนาซ่า ใกล้ ๆ ลอสแอนเจลิส
ภาพที่ศิลปินรายหนึ่งสร้างขึ้นในเดือน ก.พ. 2558 ที่แสดให้เห็นดาวเทียม SWOT (Surface Water and Ocean Topography) ที่มีระบบเรดาร์ล้ำยุค ซึ่งได้รับการออกแบบและสร้างที่ห้องทดลองปฏิบัติการ Jet Propulsion ของนาซ่า ใกล้ ๆ ลอสแอนเจลิส
วลาดิเมียร์ ปูติน

วลาดิเมียร์ ปูติน

ประธานาธิบดีรัสเซีย

"พวกเขา [สหรัฐฯ] ออกมากล่าวหาอย่างไม่มีมูลเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่พุ่งเป้ามายังรัสเซียโดยเฉพาะเจาะจล เกี่ยวกับแผนการส่งอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นสู่อวกาศ ... ขณะเดียวกัน พวกเขายังปิดกั้นข้อเสนอของเรา ... กรณีข้อตกลงในการป้องการการส่งอาวุธขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ซึ่งเราร่างขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2008”

ทำให้สังคมเข้าใจผิด

สหรัฐฯ ทำการเตือนรัสเซียแบบเงียบ ๆ ว่า อย่าคิดที่จะส่งอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศเป็นอันขาด ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ปี โดยคำเตือนที่ว่านั้นมีออกมาหลังสื่อหลายแห่งรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า แผนของรัสเซียในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้ในอวกาศนั้นถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ

หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานด้วยว่า คำเตือนที่สหรัฐฯ ส่งให้รัสเซียนั้นเป็น “ส่วนหนึ่งของแผนงานทางการทูตที่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เร่งดำเนินการเพื่อดักทางภัยคุกคามที่ครอบคลุมถึงการเข้าหาจีน อินเดีย ประเทศกลุ่มจี7 และพันธมิตรใกล้ชิดอื่น ๆ ที่มีความสนใจและผลประโยชน์ในกิจการด้านอวกาศ รวมทั้ง การใช้ช่องทางเข้าถึงรัสเซียด้วย"

ขณะที่ ข้อมูลการค้นพบของหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ ยังถูกจัดไว้ในชั้นความลับอยู่ ทำเนียบขาวกล่าวว่า รัสเซียกำลังหาทางส่งอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นสู่อวกาศเพื่อใช้จัดการกับดาวเทียมต่าง ๆ หากเป็นไปได้

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ออกมาปฏิเสธคำกล่าวอ้างข้างต้นว่า “ไม่มีมูล ปลอมและเป็นความเท็จ”

ในระหว่างขึ้นกล่าวต่อหน้ารัฐสภารัสเซียเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ปธน.ปูติน กล่าวว่า มอสโกไม่มีแผนที่จะส่งอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศและกล่าวหาสหรัฐฯ ว่า ทำการปิดกั้นข้อตกลงที่รัสเซียร่างขึ้นเพื่อให้มีการแบนการส่งอาวุธประเภทดังกล่าวขึ้นอวกาศ

ปูติน กล่าวว่า “ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ปิดกั้นข้อเสนอของเราที่มีการหารือกันมานานกว่า 15 ปีแล้ว ผมกำลังพูดถึงข้อตกลงว่าด้วยการป้องกันการปล่อยอาวุธขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ที่เราร่างขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2008 และก็ไม่มีเสียงตอบรับใด ๆ กลับมาเลย”

นั่นเป็นการทำให้สังคมเข้าใจผิด

ปูตินไม่ได้พูดถึงกรณีที่สนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก (Outer Space Treaty) ปี 1967 สั่งห้ามการส่งอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศอยู่แล้ว ทั้งสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียตก็อยู่ในรายชื่อ 110 ประเทศที่ให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญานี้ ขณะที่มีอีก 89 ประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญานี้แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรอง

สนธิสัญญานี้สั่งห้ามการจัดส่ง “อาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทำลายล้างสูงใด ๆ ก็ตาม” ขึ้นสู่วงโคจรของโลก หรือไปยังดวงจันทร์ หรือในระบบสุริยะจักรวาล หรือบนสถานีอวกาศใด ๆ โดยนอกเหนือจากอาวุธนิวเคลียร์แล้ว นิยามของคำว่า “อาวุธทำลายล้างสูง” ยังรวมความถึงอาวุธรังสี อาวุธชีวภาพและอาวุธเคมีด้วย

สำหรับ “ข้อตกลงว่าด้วยการป้องกันการปล่อยอาวุธขึ้นสู่ห้วงอวกาศ” ที่ร่างขึ้นในปี 2008 นั้น ปูติน หมายถึง “สนธิสัญญาว่าด้วยการป้องกันการจัดส่งอาวุธไปยังอวกาศและภัยคุกคามของการใช้กำลังจัดการกับวัตถุที่อยู่ในอวกาศ (Treaty on Prevention of the Placement of Weapons in Outer Space and of the Threat or Use of Force Against Outer Space Objects) หรือ PPWT ที่รัสเซียและจีนร่วมกันนำเสนอที่การประชุมว่าด้วยการปลดอาวุธที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สนับสนุนและจัดขึ้นที่นครเจนีวาในปี 2008

สหรัฐฯ คัดค้านร่างสนธิสัญญาของจีน-รัสเซีย โดยมีเหตุผลหลัก ๆ ว่า เนื้อหาของสนธิสัญญานี้ไม่ได้พูดถึงระบบต่อต้านดาวเทียมที่ติดตั้งอยู่บนพื้นโลกที่จีนและรัสเซียพัฒนาอยู่อย่างแข็งขัน

ในเดือนมิถุนายน ปี 2014 รัสเซียและจีนเสนอร่าง PPWT ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม แต่ก็ไม่ได้พูดถึงระบบที่มีความสามารถยิงดาวเทียมจากพื้นโลกเช่นเคย และจนถึงปีนี้ (2024) สหรัฐฯ จีน อินเดีย และ รัสเซีย ก็ต่างพัฒนาและประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบอาวุธที่ว่านี้ที่ว่ากันว่า มีความสามารถทำลายดาวเทียมได้แล้ว

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4 คนขึ้นบริหารประเทศตั้งแต่มีการร่าง PPWT ขึ้นในปี 2008 และผู้นำสหรัฐฯ ทุกคนก็แสดงความกังวลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (ตามที่มีการบรรยายเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2022 ที่การประชุมว่าด้วยการปลดอาวุธที่นครเจนีวา โดย ไมเคิล อาโฮ อดีตที่ปรึกษาคณะผู้แทนสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมการประชุม):

  • ร่างสนธิสัญญานี้ไม่ไม่ได้พูดถึง “ระบบต่อต้านดาวเทียมโดยประเทศที่พยายามปฏิเสธการใช้งาน(อาวุธประเภทนี้)ของประเทศอื่น ๆ และประโยชน์ของระบบที่ติดตั้งบนพื้นโลกและยิงขึ้นอวกาศได้ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่เร่งด่วนที่สุดต่อระบบการโคจรรอบโลกในทุกวันนี้”;
  • PPWT ไม่ได้นำเสนอกลไกตรวจสอบใด ๆ ซึ่งหมายความว่า “การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบของฝ่ายอื่น ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เลย”;
  • การใช้คำกว้าง ๆ ในร่างสนธิสัญญานี้เปิดช่องให้มีการตีขลุมได้ เช่น เราอาจไม่สามารถชี้ชัดว่า อะไรคือ “อาวุธที่ใช้อวกาศ” ได้ เพราะในความเป็นจริงนั้น ระบบหลาย ๆ ระบบมีจุดประสงค์การใช้งานแบบ 2 ประสงค์ (dual purpose) อยู่แล้ว
  • ร่างสนธิสัญญาดังกล่าว “ไม่ได้ระบุถึงการตอบโจทย์ประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับความน่าจะเป็นของการสั่งสม(อาวุธ) และช่วงเวลาในการผลิตแร่ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะขั้นสูงสำหรับการประกอบอาวุธนิวเคลียร์ (breakout capability) รวมถึงพฤติกรรมอันน่ากังวลของวัตถุอวกาศของรัสเซียที่ทำปฏิบัติการอยู่ใกล้ ๆ วัตถุอวกาศของสหรัฐฯ”

แคริ บิงเกน ผู้อำนวยการโครงการด้านความมั่นคงการบินและอวกาศ ของ Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นว่า ขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียมแบบปกตินั้นสามารถทำลายดาวเทียมได้ทีละดวง ขณะที่ ขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียมติดหัวรบนิวเคลียร์สามารถทำลายดาวเทียมได้ทีละหลาย ๆ ดวง และสามารถสร้างความเสียหายเชิงยุทธศาสตร์ได้ด้วย

บิงเกน กล่าวไว้ว่า “การจุดระเบิดนิวเคลียร์ในอวกาศนั้น ดิฉันมองว่า เป็น(การยิง)หนึ่งลูกเข้าใส่อาวุธหลาย ๆ ชิ้น ถ้าจุดประสงค์คือการทำลายดาวเทียมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็เป็นตัวเลือกที่ใช้ได้ เพื่อจะให้มีการจุดระเบิดเป็นวงกว้าง จนทำลายดาวเทียมทุกดวงที่อยู่ในพิกัดระยะการทำลายล้าง และทำให้เกิดสภาพแวดล้อมมีกัมมันตภาพรังสีสูง จนทำให้ดาวเทียมอื่น ๆ เสื่อมสภาพลงในระยะต่อไปด้วย”

  • ที่มา : ฝาย Polygraph วีโอเอ

XS
SM
MD
LG