ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: จริงหรือเท็จ? เมื่ออิหร่านยืนยัน ไม่ได้หนุนกลุ่มติดอาวุธในอิรัก-ซีเรีย


ภาพจากทำเนียบปธน.อิหร่านเมื่อ 2 ก.พ. 2567 แสดงให้เห็นภาพ ปธน.อิบราฮิม ระอีซี ขณะเยือนฐานทัพกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามในบันดาร์ อับบาส ประเทศอิหร่าน (Iranian presidential office via AFP)
ภาพจากทำเนียบปธน.อิหร่านเมื่อ 2 ก.พ. 2567 แสดงให้เห็นภาพ ปธน.อิบราฮิม ระอีซี ขณะเยือนฐานทัพกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามในบันดาร์ อับบาส ประเทศอิหร่าน (Iranian presidential office via AFP)
อามีร์ ซาอีด อิราวานิ

อามีร์ ซาอีด อิราวานิ

ทูตอิหร่านประจำสหประชาชาติ

"ไม่มีกลุ่มใดที่เกี่ยวพันกับกองกำลังของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ไม่ว่าจะเป็นในอิรัก ซีเรีย หรือที่ใดก็ตาม ที่ดำเนินปฏิบัติการโดยตรงหรือทางอ้อม ภายใต้การควบคุมของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านหรือ ทำการในนามของเรา"

เท็จ

สหรัฐฯ เชื่อว่า เหตุการณ์โจมตีด้วยโดรนเข้าใส่ฐานทัพอเมริกันที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจอร์แดนซึ่งส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันเสียชีวิต 3 คนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 40 คนเมื่อไม่นานมานี้ เป็นฝีมือของกลุ่มต่อต้านอิสลามแห่งอิรัก

จอห์น เคอร์บี จากสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ว่า กลุ่มนี้เป็นองค์กรแม่ข่ายของเหล่านักรบติดอาวุธที่อิหร่านหนุนหลังอยู่ ซึ่งรวมถึงกลุ่ม กาตาอิบ เฮซบอลลาห์ (Kataib Hezbollah)

สถานีซีบีเอสนิวส์ (CBS News) รายงานเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ด้วยว่า ทำเนียบขาวอนุมัติแผนการตอบโต้ของเพนตากอนที่รวมถึงการโจมตีด้วยขีปนาวุธที่พุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่และพื้นที่ของอิหร่านในอิรักและซีเรีย

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า อิหร่านคือผู้รับผิดชอบการโจมตี “ในแง่ที่ว่า พวกเขาเป็นผู้จัดส่งอาวุธให้กับคนที่ลงมือทำ[การโจมตี]”

ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ว่า “ข้อมูลที่แน่นอนว่าอิหร่านรู้เกี่ยวกับการโจมตีหรือไม่” นั้น “ไม่ใช่เรื่องสำคัญ” เพราะสาธารณรัฐอิสลาม[อิหร่าน] “เป็นผู้ให้การสนับสนุน ให้เงินช่วยและในบางกรณี จัดการอบรมเกี่ยวกับอาวุธล้ำสมัยต่าง ๆ ให้กับกลุ่มเหล่านี้”

ออสตินกล่าวด้วยว่า “พวกเขาเป็นตัวแทนของอิหร่าน”

แต่อิหร่านปฏิเสธคำกล่าวหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตนกับกลุ่มต่าง ๆ โดย อามีร์ ซาอีด อิราวานิ ทูตอิหร่านประจำสหประชาชาติ เป็นผู้ส่งสารดังกล่าวผ่านจดหมายที่ยื่นให้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่มีเนื้อหาบางส่วนว่า:

"ไม่มีกลุ่มใดที่เกี่ยวพันกับกองกำลังของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ไม่ว่าจะเป็นในอิรัก ซีเรีย หรือที่ใดก็ตาม ที่ดำเนินปฏิบัติการโดยตรงหรือทางอ้อม ภายใต้การควบคุมของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านหรือ ทำการในนามของเรา"

นี่เป็นความเท็จ

องค์กรคลังสมองด้านกลาโหมและความมั่นคง Royal United Services Institute ของอังกฤษประเมินว่า มีกลุ่มติดอาวุธอย่างน้อย 40 กลุ่ม “ที่ได้รับเงินทุนอย่างเหนียวแน่นและอยู่ภายใตการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยกองพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม” ตามรายงานของสถานีข่าวซีบีเอสนิวส์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

นิตยสาร Homeland Security Today ของสหรัฐฯ ที่ใกล้ชิดกับ Government Technology and Services Coalition กลุ่มตัวแทนธุรกิจการค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ระบุในบทวิเคราะห์ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ว่า กลุ่มติดอาวุธที่มีอิหร่านควบคุมอยู่คือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์โจมตีก่อการร้ายส่วนใหญ่จากทั้งหมดที่เกิดขึ้นกว่า 3,000 ครั้งระหว่างปี 2018 และ 2023 ในตะวันออกกลางและภูมิภาคจะงอยแอฟริกา (Horn of Africa)

องค์กร Council on Foreign Relations (CFR) ของสหรัฐฯ รายงานว่า กองกำลังคุดส์ (Quds Force) ของอิหร่านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps - IRGC) ทำหน้าที่ประสานงานการสื่อสารระหว่างกรุงเตหะรานและตัวแทนอื่น ๆ รวมทั้งช่วยจัดหาการอบรม อาวุธและเงินทุนด้วย

อ้างอิงจากงานวิจัยร่วมของหนังสือพิมพ์ เดอะ ไฟแนนเชียล ไทมส์ (The Financial Times) และ International Institute for Strategic Studies องค์กร CFR จัดทำข้อมูลของกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านหนุนหลังที่มีชื่อเสียงที่สุด 12 แห่งในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาที่สรุปความถึงเดือนตุลาคมปี 2023 ออกมาสำเร็จ

งานวิจัยที่ว่าประเมินว่า จำนวนนักรบของกลุ่มติดอาวุธทั้ง 12 กลุ่มนั้นน่าจะอยู่ที่ระหว่าง 124,000 และ 198,000 คน โดย 9 ใน 12 กลุ่มนั้น อำนาจควบคุมของอิหร่านอยู่ในระดับ “แข็งแกร่ง” ขณะที่ ส่วนที่เหลือนั้นอยู่ภายใต้การควบคุม “ปานกลาง” ตามการสรุปของ CFR

ทั้งนี้ นักรบส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิกกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้มาจากประเทศที่ประชากรส่วนมากนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ เช่น อิรักและเลบานอน

ตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มที่ว่าคือ เฮซบอลลาห์ ที่เป็นทั้งกลุ่มติดอาวุธและพรรคการเมืองของเลบานอน ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหลายต่อหลายครั้ง

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประเมินว่า กลุ่มเฮซบอลลาห์ได้รับเงินช่วยเหลือปีละราว 700 ล้านดอลลาร์จากอิหร่าน ขณะที่ กรุงเตหะรานเองมอบเงินประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับกลุ่มต่าง ๆ ของปาเลสไตน์เช่น ฮามาสและกองกำลังอิสลามิก จิฮัด ปาเลสไตน์ ด้วย

ตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 มา อิหร่านให้การสนับสนุนและฝึกอบรมกลุ่มหัวรุนแรงต่าง ๆ เช่น กลุ่ม กาตาอิบ เฮซบอลลาห์ ของอิรัก กลุ่มติดอาวุธ ซารายา อัล อัชตาร์ (Saraya al Ashtar) ของบาห์เรน และกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ ผ่านกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามมาโดยตลอด

และระหว่างปี 2012 และ 2023 นั้น รัฐบาลอิหร่านใช้จ่ายเงินไปถึงกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนรัฐบาลประธานาธิบดีบะชาร์ อัล-อัซซาด ของซีเรีย รวมทั้งกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ที่เป็นตัวแทนของตนในซีเรีย อิรักและเยเมนด้วย ตามรายงานของ Wilson Center องค์กรคลังสมองที่อ้างข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนกันยายนของปีที่แล้ว

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ

XS
SM
MD
LG