ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: อินฟลูเอนเซอร์ X ปั่นกระแสวิจารณ์สหรัฐฯ ด้วยการอวยจีน จริงหรือไม่


ภาพจนท.ขับรถไฟใต้ดินนครนิวยอร์กขณะขับผ่านย่านบรองซ์ เมื่อ 21 เม.ย. 2563 (Reuters/Lucas Jackson)
ภาพจนท.ขับรถไฟใต้ดินนครนิวยอร์กขณะขับผ่านย่านบรองซ์ เมื่อ 21 เม.ย. 2563 (Reuters/Lucas Jackson)
Wall Street Silver

Wall Street Silver

อินฟลูเอนเซอร์ บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X)

“ซ้าย: รถไฟใต้ดินในนิวยอร์ก สหรัฐฯ

ขวา: รถไฟใต้ดินในกว่างโจว จีน

แต่ อย่าห่วงไปใย ... นักการเมืองสหรัฐฯ เอาอยู่ทุกหมัด พวกเขาจะส่งเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปยูเครนและอิสราเอล พร้อมให้บริการด้านการดูแลสุขภาพฟรี ๆ แก่ผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย นั่นน่าจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้!"

Source: แพลตฟอร์ม X เมื่อ 19 ก.พ. 2567
ทำให้สังคมเข้าใจผิด

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อินฟลูเอนเซอร์ หรือ ผู้ทรงอิทธิพลทางโลกออนไลน์ บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ที่ใช้ชื่อว่า “Wall Street Silver” โพสต์คลิปวิดีโอ 2 คลิปเทียบกันเพื่อแสดงภาพน้ำท่วมที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งหนึ่ง พร้อมขึ้นตัวหนังสือกำกับว่า “USA” ข้าง ๆ คลิปแสดงภาพสถานีรถไฟฟ้าที่มีลักษณะล้ำสมัยพร้อมคำว่า “China”

เนื้อหาที่ “Wall Street Silver” โพสต์ก็คือ:

“ซ้าย: รถไฟใต้ดินในนิวยอร์ก สหรัฐฯ

ขวา: รถไฟใต้ดินในกวางโจว จีน

แต่ อย่าห่วงไปใย ... นักการเมืองสหรัฐฯ เอาอยู่ทุกหมัด พวกเขาจะส่งเงินหลายพันล้านดอลลาร์ไปยูเครนและอิสราเอล พร้อมให้บริการด้านการดูแลสุขภาพฟรี ๆ แก่ผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย นั่นน่าจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้!"

โพสต์นี้มีผู้นำไปแชร์ต่อ กดไลค์ และให้ความเห็นเกือบ 92,000 ครั้ง ทั้งยังมีสถิตคนเข้ามาชมแล้วกว่า 11.8 ล้านครั้งขณะที่จัดทำรายงานข่าวนี้

อินฟลูเอนเซอร์บนแพลตฟอร์ม X รายหนึ่งโพสต์คลิปวิดีโอ 2 คลิปเปรียบเทียบสถานีรถไฟใต้ดินในสหรัฐฯ ที่ตกอยู่ในสภาพน้ำท่วม กับสถานีรถไฟล้ำยุคที่ระบุว่าอยู่ที่ประเทศจีน
อินฟลูเอนเซอร์บนแพลตฟอร์ม X รายหนึ่งโพสต์คลิปวิดีโอ 2 คลิปเปรียบเทียบสถานีรถไฟใต้ดินในสหรัฐฯ ที่ตกอยู่ในสภาพน้ำท่วม กับสถานีรถไฟล้ำยุคที่ระบุว่าอยู่ที่ประเทศจีน

โพสต์นี้ทำให้สังคมเข้าใจผิดอย่างมาก และการเปรียบเทียบดังกล่าวก็ไม่เป็นธรรมสำหรับสหรัฐฯ เลย

ประเด็นแรกที่ต้องกล่าวถึงคือ งบประมาณบริหารรถไฟฟ้าใต้ดินของนครนิวยอร์กไม่ได้ผูกกับงบของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ “ที่จะส่งไปให้ยูเครนและอิสราเอล” หรือ ที่จะนำไปใช้สนับสนุนบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้กับผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ

ประเด็นที่สองก็คือ คลิปภาพที่ระบุว่ามาจากจีนนั้นไม่ได้เป็นภาพของระบบรถไฟฟ้าใต้ดินในเมืองกว่างโจว เพราะสถานีรถไฟฟ้าในคลิปนั้นเป็นภาพของรถไฟฟ้าเมโทรสาย 14 ของนครเสิ่นเจิ้นที่สร้างเสร็จในปี 2022 ซึ่งหมายความว่า นี่เป็นการเปรียบเทียบระบบรถไฟฟ้าที่มีอายุงาน 2 ปี กับระบบรถไฟฟ้าใต้ดินนครนิวยอร์กที่ใช้งานมากว่า 100 ปีตั้งแต่เมื่อปี 1904 แล้ว

จนท.กู้ภัยเข้าไปในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 5 เพื่อตรวจสอบภาวะน้ำท่วม หลังเกิดฝนตกหนักในนครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน เมื่อ 26 ก.ค. 2564 (China Daily via Reuters)
จนท.กู้ภัยเข้าไปในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 5 เพื่อตรวจสอบภาวะน้ำท่วม หลังเกิดฝนตกหนักในนครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน เมื่อ 26 ก.ค. 2564 (China Daily via Reuters)

ประการที่สาม การนำคลิป 2 คลิปนี้มาวางเทียบข้าง ๆ กันนั้นเป็นเหมือนการนำส้มไปเทียบกับแอปเปิล เพราะคลิปหนึ่งแสดงให้เห็นภาพของสถานการณ์น้ำท่วมที่เลวร้ายที่สุดวันหนึ่งของระบบรถไฟฟ้าใต้ดินนครนิวยอร์ก (29 กันยายน 2566) ที่เกิดจากภาวะฝนตกหนัก ขณะที่ อีกคลิปเป็นภาพของขบวนรถไฟฟ้านครเสิ่นเจิ้นสาย 14 ที่ใหม่เอี่ยมอ่อง

ถ้าเปรียบเทียบอย่างเป็นธรรมก็ควรนำภาพของระบบรถไฟฟ้าใต้ดินจีนขณะรับมือกับสภาพอากาศเลวร้ายคล้าย ๆ กับที่อยู่ในภาพรถไฟฟ้าใต้ดินนิวยอร์ก เพราะในปี 2021 มีเหตุการณ์น้ำท่วมที่นครเจิ้งโจว เมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 รายในรถไฟฟ้าใต้ดินที่น้ำท่วมอยู่ ซึ่งรายงานข่าวระบุว่า มีสาเหตุมาจากการจัดการภัยพิบัติที่ผิดพลาดของทางการ

รายละเอียดเพิ่มเติมของคำอธิบายข้างต้นมีดังนี้

งบประมาณระบบรถไฟใต้ดิน; ยูเครนและอิสราเอล; บริการสุขภาพสำหรับผู้อพยพเข้าเมือง

เริ่มต้นที่ประเด็นคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับ “การให้บริการด้านสุขภาพฟรี” สำหรับ “ผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย”

ทางการนครนิวยอร์กจัดหาบริการด้านสุขภาพฟรีเฉพาะกรณีฉุกเฉินและด้านผดุงครรภ์ให้กับผู้ที่อยู่ในเมืองนี้ โดยไม่พิจารณาสถานภาพทางกฎหมาย

ตัวอย่างหนึ่งของคำอธิบายเรื่องนี้จากกลุ่มรณรงค์เคลื่อนไหว INCLUDENYC ที่ระบุว่า “กฎหมายรัฐบาลกลางที่บังคับใช้ในรัฐนิวยอร์กยืนยันว่า ทุกคน -- โดยไม่สนใจสถานภาพทางกฎหมาย ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะมีความสามารถชำระเงินหรือไม่ – มีสิทธิ์เข้าถึงบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินตามโรงพยาบาลได้ ผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายก็มีสิทธิ์รับบริการ ‘เมดิเคด’ (Medicaid) สำหรับกรณีการรักษาอาการป่วยฉุกเฉินหรือบริการด้านผดุงครรภ์เท่านั้น”

กลุ่มนี้ยังอธิบายด้วยว่า “สตรีมีครรภ์ในนครนิวยอร์กไม่ต้องแสดงเอกสารใด ๆ เกี่ยวกับสถานะผู้อพยพ (immigration status) เพื่อจะรับบริการด้านผดุงครรภ์”

ในส่วนของบริการด้านสุขภาพอื่น ๆ นั้นจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสถานภาพทางกฎหมาย งานการ รายได้ ปัจจัยอื่น ๆ ของบุคคลนั้น ๆ ที่ระบุไว้ในข้อมูลสรุปสำคัญของทางการนครนิวยอร์ก

จนท.การแพทย์ทำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นาให้กับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่จุดแจกจ่ายวัคซีนของ SOMOS Community Care ระหว่างเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในเขตแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก เมื่อ 29 ม.ค. 2564 (REUTERS/Mike Segar)
จนท.การแพทย์ทำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นาให้กับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่จุดแจกจ่ายวัคซีนของ SOMOS Community Care ระหว่างเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในเขตแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก เมื่อ 29 ม.ค. 2564 (REUTERS/Mike Segar)

สำหรับประเด็นงบประมาณบริหารรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น การคมนาคมนครหลวง หรือ Metropolitan Transportation Authority (MTA) เป็นผู้จัดการและดูแลระบบรถไฟใต้ดินของนิวยอร์ก

งบของ MTA นั้นไม่ได้มาจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ แต่เป็นส่วนพิเศษที่ดูแลร่วมกันโดยนครนิวยอร์กและงบประมาณรัฐนิวยอร์ก โดยการเบิกจ่ายต้องมีการพิจารณาและอนุมัติหลายขั้นซึ่งรวมถึงการเห็นชอบโดยประชาชนด้วย

งบประมาณของ MTA นั้น มาจากค่าตั๋วเป็นส่วนใหญ่ โดยก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้น ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินของมหานครนี้รองรับผู้โดยสารถึงปีละเกือบ 3,000 ล้านคน แต่การระบาดใหญ่ครั้งนี้ทำให้ตัวเลขสถิติผู้โดยสารลดฮวบถึง 91% ในปี 2020 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดย MTA คาดว่า ตัวเลขผู้โดยสารไม่น่าจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดอีกเลย และในปี 2023 รายได้จากจากการขายตั๋วอยู่ที่ 4,600 ล้านดอลลาร์ – ซึ่งเป็นการลดลงอย่างหนักจากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีก่อนโควิดระบาด

ถึงกระนั้น โครงการพัฒนาเป็นระยะเวลา 5 ปีของ MTA มีการพูดถึงการลงทุนเป็นเงินราว 40,000 ล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาระบบรถไฟฟ้าใต้ดินและรถโดยสารของนครนิวยอร์กด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อลงลึกไปในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็พบว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จัดงบให้เปล่า 14,000 ล้านดอลลาร์ให้กับ MTA โดยเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจกฎหมายเยียวยาจกผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ที่สภาคองเกรสผ่านออกมาใช้งานเมื่อปี 2021

ในส่วนของงบประมาณรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพื่อช่วยยูเครนและอิสราเอลนั้น การช่วยเหลือที่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่จุดสำคัญที่ทุกคนควรเข้าใจก็คือว่า งบช่วยเหลือนี้รวมความถึงยุทโธปกรณ์ทางทหาร อุปกรณ์สื่อสาร การฝึกอบรม ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม งบให้เปล่าและความช่วยเหลืออื่น ๆ ด้วย

ตัวอย่างหนึ่งที่สามารถนำมาประกอบคำอธิบายได้ก็คือ การที่อิสราเอลเป็นผู้รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยได้รับเงินช่วยไปแล้วราว 300,000 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศขึ้นในปี 1948

ส่วนงบช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ให้กับยูเครนนั้นพุ่งแตะระดับกว่า 75,000 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่เมื่อรัสเซียทำการรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022

อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดรวมกันแล้ว ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ที่มอบให้กับทั้งสองประเทศนั้นยังไม่ได้ใกล้เคียงตัวเลขงบประมาณค่าใช้จ่ายภายในประเทศของรัฐบาลเลย

และหากจะทำการเปรียบเทียบกันดู เราควรพูดถึงการที่สหรัฐฯ ให้อำนาจกระทรวงการคลังเบิกจ่ายงบ 700,000 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือชาวอเมริกันที่เป็นเจ้าของบ้าน ธุรกิจต่าง ๆ และสถาบันการเงินทั้งหลายเพื่อให้รอดพ้นภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 มาแล้ว

ช่วงเวลาที่ห่างกันเป็นศตวรรษ

ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินนครนิวยอร์กนั้นคือ ระบบขนส่งสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดระบบหนึ่งในโลก โดยรถไฟฟ้าขบวนแรกเริ่มออกวิ่งเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ปี 1904 ทั้งยังเป็นระบบขนส่งมวลชนสมัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดระบบหนึ่งในโลกที่ให้บริการครอบคลุม 472 สถานีที่ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นก่อนปี 1940

ระบบขนส่งนี้ยังให้บริการตลอดทั้งวันทั้งคืนมาเกือบตลอดเวลาตั้งแต่เปิดทำการเมื่อหลายทศวรรษก่อนด้วย

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว รถไฟฟ้าใต้ดินที่อยู่ในคลิปที่ระบุว่า มาจากจีน นั้น แสดงให้เห็นภาพสถานีรถไฟฟ้าสาย 14 ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนสายด่วนในนครเสิ่นเจิ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับต้น ๆ ของโลกที่มีชื่อเล่นว่าเป็น ซิลิคอนแวลลีย์ของจีน ด้วย

ขณะเดียวกัน การก่อสร้างรถไฟฟ้าสาย 14 ของเสิ่นเจิ้นนั้นเริ่มต้นในปี 2018 และเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ปี 2022

ส่วนสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินนิวยอร์กที่ปรากฏอยู่ในคลิปที่มีการโพสต์และแชร์ออกมานั้น เป็นสถานีที่สร้างขึ้นก่อนปี 1940 และน่าจะเก่ากว่าระบบรถไฟใต้ดินนครเสิ่นเจิ้นถึงราว 100 ปีเลยทีเดียว

ภาวะน้ำท่วมและการรับมือ

คลิปวิดีโอเปรียบเทียบที่มีการโพสต์และแชร์ทางแพลตฟอร์มเอ็กซ์นั้นดูเหมือนจะเป็นการจงใจเลือกจุดบริการรถไฟฟ้าใต้ดินนครนิวยอร์กที่มีสภาพย่ำแย่ที่สุดมาคู่กับส่วนที่ดีที่สุดของจีน

รถไฟฟ้าใต้ดินนครนิวยอร์กนั้นถูกน้ำท่วมเมื่อวันที่ 29 กันยายน ปี 2023 จากฤทธิ์ของพายุโซนร้อนโอฟเลียที่พาฝนปริมาณมากมายังมหานครแห่งนี้

ภาพของรถยนต์มากมายที่วิ่งข้ามสะพานบรูคลิน ขณะฝนตกหนักเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 ในเขตบรูคลิน นครนิวยอร์ก (AP Photo/Andres Kudacki)
ภาพของรถยนต์มากมายที่วิ่งข้ามสะพานบรูคลิน ขณะฝนตกหนักเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 ในเขตบรูคลิน นครนิวยอร์ก (AP Photo/Andres Kudacki)

ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก แคธี โฮคูล ประกาศภาวะฉุกเฉินในนครนิวยอร์ก ก่อนที่พายุที่ว่าจะพัดพาน้ำฝนมาถล่มพื้นที่เมืองนี้เสียอีก และกองกำลังสำรองของรัฐก็ถูกสั่งให้ออกมาให้ความช่วยเหลือในปฏิบัติการรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วย ขณะที่ ภาวะน้ำท่วมส่งผลกระทบหนักต่อระบบรถไฟฟ้าใต้ดินนครนิวยอรก จนต้องมีการระงับบริการในบางเส้นทางด้วย อย่างไรก็ดี ไม่มีรายงานกรณีเหตุภัยอันตรายใด ๆ ที่เกิดกับประชาชน หรือแม้แต่กรณีการเสียชีวิตจากภาวะน้ำท่วมสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเลย

การเปรียบเทียบอย่างเป็นธรรมในกรณีนี้ก็ควรแสดงภาพระบบรถไฟฟ้าใต้ดินจีนขณะรับมือสภาพอากาศเลวร้ายคล้าย ๆ กัน และแสดงให้เห็นถึงวิธีที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลรับมือกับเรื่องนี้มากกว่า

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่นครเจิ้งโจว เมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน ในภาคกลางของจีน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 2021 เมื่อเกิดฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ที่ทำให้อุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินของเมืองท่วมหนัก และทำให้ผู้โดยสารจำนวนหนึ่งติดอยู่ภายในขณะที่ระดับน้ำเพิ่มสูงอยู่

ในเหตุการณ์ครั้งนั้น มีประชาชนเสียชีวิต 14 คนในอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินที่น้ำท่วมมิด ซึ่งถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ “สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้” ตามรายงานของ Sixth Tone ซึ่งเป็นนิตยสารออนไลน์ภาษาอังกฤษของรัฐบาลที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้

Sixth Tone รายงานด้วยว่า นครเจิ้งโจวเผชิญฝนตกหนักเกือบ 62 มิลลิเมตร ระหว่างช่วงเวลา 20.00 นาฬิกา ของวันที่ 17 กรกฎาคม และเวลา 20.00 นาฬิกาของวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 2021 ซึ่งเป็นปริมาณน้ำฝนเกือบทั้งปีของเมืองนี้

กรมอุตุนิยมวิทยาของนครเจิ้งโจวออกคำเตือนระวังภัยพายุระดับสูงสุด 5 ครั้งในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนจะเกิดเหตุภัยพิบัติดังกล่าว ซึ่งทำให้ทางการเมืองต้องสั่งระงับกิจกรรมภายนอกอาคารทั้งหมด แต่ Sixth Tone รายงานว่า “ถึงกระนั้น ประชาชนในเมืองก็ไม่ได้ใส่คำเตือนของทางการเท่าใดเลย”

หน่วยงานผู้ดูแลรถไฟฟ้าใต้ดินเสิ่นเจิ้นสั่งปิดทางเข้าสถานีบางแห่งเมื่อเวลา 15.40 นาฬิกา ของวันที่ 20 กรกฎาคม แต่ไม่ได้สั่งระงับบริการทั้งหมดจนกระทั่งเวลา 18.10 นาฬิกา และ Sixth Tone รายงานโดยอ้างคำพูดของผู้รอดชีวิตหลายคนว่า “น้ำเริ่มไหลเข้ามาท่วมภายในตัวรถไฟฟ้าเมื่อเวลาประมาณ 18 นาฬิกา”

สื่อทางการจีนอื่น ๆ รายงานว่า กองทัพปลดปล่อยประชาชน (People’s Liberation Army) ได้ออกทำปฏิบัติการกู้ภัยด้วย ขณะที่ ทางการท้องถิ่นสั่งการให้มีการตั้งแบร์ริเออร์ ที่ว่ากันว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนออกมาวางพวงหรีดระลึกถึงผู้ที่จมน้ำเสียชีวิต และสั่งปิดกั้นจุดที่มีการวางพวงหรีดแล้วไม่ให้ประชาชนมองเห็นด้วย

เมื่อเดือนมกราคม ปี 2022 ทางการจีนเผยแพร่ผลการสอบสวนที่สรุปว่า รัฐบาลเจิ้งโจว “ล้มเหลวในการออกมารับผิดชอบในเบื้องต้นสำหรับการป้องกันน้ำท่วมและปฏิบัติการบรรเทาภัยพิบัติ และยังขาดซึ่งความตระหนักรู้อย่างร้ายแรงต่อมหันตภัยที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพอากาศสุดโต่ง”

พนักงานสอบสวนสรุปด้วยว่า ทางการเมืองเจิ้งโจวยัง “ปกปิดหรือเลื่อนผลัดการทำรายงานกรณีผู้ที่เสียชีวิตและสูญหายในเหตุการณ์ภัยพิบัติ” ด้วย ตามรายงานของสื่อทางการ ซินหัว

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ
XS
SM
MD
LG