ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘วิถีการทูตไผ่ลู่ลม’ กับ ‘ความเนื้อหอม’ ของเวียดนามในสายตาจีนและสหรัฐฯ


แฟ้มภาพ - นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ แห่งเวียดนาม (ซ้าย) ร่วมถ่ายภาพกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีน ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 27 มิ.ย. 2566
แฟ้มภาพ - นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ แห่งเวียดนาม (ซ้าย) ร่วมถ่ายภาพกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีน ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อ 27 มิ.ย. 2566

ในปีนี้ การลงทุนจากจีนที่ไหลเข้ามายังเวียดนามพุ่งสูงอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงที่ประเทศสมาชิกอาเซียนแห่งนี้เดินหน้ามีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลกในฐานะศูนย์กลางการผลิตหลักสำหรับทั้งจีนและสหรัฐฯ

ความสำคัญของเวียดนามในสายตาของสองประเทศมหาอำนาจนี้ดูชัดเจนขึ้นเมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พร้อมยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับอดีตประเทศคู่อริแห่งนี้หลังกรุงวอชิงตันพยายามดันตนเองให้ขึ้นมาเป็นมิตรที่มีอิทธิพลเท่าเทียมกันกับจีนสำหรับรัฐบาลกรุงฮานอย

ประเด็นนี้ยิ่งดูร้อนแรงขึ้นเมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีกำหนดเยือนเวียดนามในวันอังคารที่จะถึงนี้เป็นเวลา 2 วัน ซึ่งเป็นการเดินทางเยือนประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ครั้งแรกในรอบ 6 ปีของผู้นำจีน

ฮวง เล ทู รองผู้อำนวยการโครงการเอเชียของ International Crisis Group ให้ความเห็นว่า ในมุมมองของจีนนั้น การเดินทางเยือนครั้งนี้จะเป็นการตอกย้ำว่า ตนจะไม่ยอมเสียเวียดนามให้กับคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ เป็นอันขาด ขณะที่ เวียดนามเองก็มองว่า ความเนื้อหอมของตนเป็นผลมาจาก bamboo diplomacy หรือ วิถีการทูตแบบไผ่ลู่ลม ที่ทำให้ตนสามารถสับรางรับมือกับมหาอำนาจทั้งสองโดยไม่ต้องถูกบีบให้ต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แต่แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่า การเดินทางมายังกรุงฮานอยของปธน.สีนั้นจะนำมาซึ่งการยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองหรือไม่และอย่างไร สิ่งที่ดูชัดเจนในเวลานี้คือ จีนมีความได้เปรียบในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมากกว่าสหรัฐฯ เนื่องจากมีการลงทุนจากจีนไหลเข้ามาเวียดนามอย่างมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะตึงเครียดระหว่างวอชิงตันและปักกิ่งและการดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อจีนซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจวิ่งออกมาหาที่ทำกินนอกประเทศมากขึ้น

หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน บอกกับผู้สื่อข่าวว่า การเยือนเวียดนามของปธน.สีในสัปดาห์หน้าจะมีวาระหารือเกี่ยวกับ “การยกระดับความสัมพันธ์จีน-เวียดนามให้สูงขึ้น” ด้วย ขณะที่ วาระอื่น ๆ มีตั้งแต่ประเด็นการเมืองไปจนถึง ความร่วมมือต่าง ๆ ความคิดของประชาชนและเรื่องที่เกี่ยวกับการเดินเรือด้วย

เปรียบเทียบการค้า-การลงทุน

เม็ดเงินลงทุนจากจีนและฮ่องกงที่เข้ามายังเวียดนามและมีการเก็บบันทึกอย่างเป็นทางการไว้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้พุ่งขึ้นมาเป็น 8,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าตัวเลขในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 2 เท่าและทำให้จีนกลายมาเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งของเวียดนามไปโดยปริยาย

หนูน้อยชาวเวียดนามคนหนึ่ง ถือธงเวียดนามและธงจีน ในพิธีต้อนรับที่ทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนาม เมื่อ 12 พ.ย. 2560
หนูน้อยชาวเวียดนามคนหนึ่ง ถือธงเวียดนามและธงจีน ในพิธีต้อนรับที่ทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนาม เมื่อ 12 พ.ย. 2560

ในส่วนของสหรัฐฯ นั้น เงินลงทุนหดตัวลงมาเหลือเพียงราว 500 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ จากตัวเลข 700 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 และทำให้สหรัฐฯ กลายมาเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับที่ 10 ขณะที่ ภาวะการค้าระหว่างทั้งสองก็ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคอเมริกันต้องเผชิญวิกฤตค่าครองชีพ และไม่มีข่าวดีเรื่องการลดภาษีนำเข้าใด ๆ ในระหว่างการเยือนเวียดนามของปธน.ไบเดนเมื่อเกือบ 3 เดือนก่อน

ขณะเดียวกัน การส่งออกจากเวียดนามไปสหรัฐฯ ก็ร่วงลง 15% มาอยู่ที่ประมาณ 79,250 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ตามข้อมูลของทางการฮานอย แต่การส่งออกไปจีนกลับขยายตัว 5% มาที่เกือบ 50,000 ล้านดอลลาร์

ความสัมพันธ์จีน-เวียดนามที่ยังยุ่งยากซับซ้อน

แม้ทิศทางด้านการค้า-การลงทุนระหว่างจีนและเวียดนามจะดูดี ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยมีสาเหตุมาจากความตึงเครียดในกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนในทะเลจีนใต้นั่นเอง

ขณะที่ ประชาชนชาวเวียดนามเองมีความรู้สึกต่อต้านจีนอยู่จนทำให้เกิดเหตุการประท้วงจีนอยู่เนือง ๆ รัฐบาลฮานอยเองก็มีความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของกรุงปักกิ่งที่แสดงท่าทีอุกอาจแน่วแน่ที่จะประกาศความเป็นเจ้าของทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะหลังจีนเผยแพร่แผนที่ทางการฉบับใหม่เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งแสดงเห็นว่า จีนมีอธิปไตยเหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดของเส้นทางเดินเรือที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอยู่อย่างมั่งคั่ง

หลายฝ่ายรับรู้ว่า ประเด็นข้อพิพาททางทะเลเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวพอควรสำหรับเวียดนาม หลังทางการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ “บาร์บี” เนื่องจากมีฉากที่แสดงให้เห็นแผนที่เหนือพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ซึ่งคล้ายแผนที่โบราณของจีนที่ใช้เครื่องหมายเส้นจุดไข่ปลา ที่เรียกว่า “nine-dash line” อยู่

สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในการเยือนของปธน.สี

เหงียน คัก เกียง นักวิจัยด้านการเมืองบอกกับ เอเอฟพี ว่า การเยือนเวียดนามของปธน.สีนั้น เป็นโอกาสอันดีที่จีนจะดึงเวียดนามเข้าใกล้ตนมากขึ้นอยู่ดี ด้วยการใช้นโยบายด้านการต่างประเทศที่เรียกว่า Community of Common Destiny ของผู้นำจีนซึ่งเป็นชื่อกลาง ๆ ที่สื่อถึงวิสัยทัศน์ด้านความร่วมมือในอนาคตเกี่ยวกับกิจการด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงและการเมือง

นักวิจัยรายนี้บอกด้วยว่า “ขณะที่ เวียดนามอาจรู้สึกว่าต้องใช้ความระมัดระวังในการเข้าร่วมแผนงานความคิดริเริ่มทางการเมืองใด ๆ ที่กรุงปักกิ่งนำเสนอ เรายังสามารถคาดหวังที่จะเห็นความก้าวหน้าด้านการร่วมมือทางเศรษฐกิจ(ระหว่างสองประเทศ) โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเปลี่ยนถ่ายมาใช้พลังงานสะอาด”

เมื่อเดือนที่แล้ว สื่อทางการเวียดนามเพิ่งรายงานว่า บริษัท China Rare Earth Group Co. กำลังหาโอกาสร่วมทำงานกับบริษัท Vinacomin ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเหมืองของเวียดนาม หลังกรุงวอชิงตันและกรุงฮานอยเพิ่งบรรลุข้อตกลงความร่วมมือในการช่วยเวียดนามพัฒนาทรัพยากรสินแร่หายากไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

ขวากหนามของสหรัฐฯ ในเวียดนาม

แม้ว่า สหรัฐฯ จะสามารถยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตของตนกับเวียดนามขึ้นมาสู่ “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน” (comprehensive strategic partnership) ซึ่งเป็นระดับเดียวกันจีน ระหว่างการเยือนของปธน.ไบเดนเมื่อเดือนกันยายน แซคคารี อาบูซา ศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก National War College ในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่า ธุรกิจต่างชาตินั้นยังคงต้องเผชิญความท้าทายสำคัญ ๆ หลายประการในการลงทุนในเวียดนามอยู่ดี ในช่วงที่ จีนคุมพื้นที่อยู่ไม่น้อย

ที่ปรึกษาธุรกิจหลายแห่งในเวียดนามเห็นด้วยว่า ขณะที่ นักลงทุนในสหรัฐฯ แสดงความสนใจที่จะมาทำธุรกิจในเวียดนามมากขึ้น การตัดสินใจทำการลงทุนใด ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นชั่วข้ามคืน

ไคล์ ฟรีแมน หุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ Dezan Shira บอกกับรอยเตอร์ว่า จีนนั้นได้เปรียบสหรัฐฯ ในประเด็นนี้ เนื่องจากแผนการลดความเสี่ยงของนักธุรกิจจีนในช่วงเกิดความตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ระหว่างกรุงวอชิงตันและกรุงปักกิ่งที่ผลักดันเงินลงทุนให้ไหลมายังเวียดนามอย่างมากมาย ขณะที่ แชด โอเวล จากบริษัทจัดการลงทุน Mekong Capital ที่เน้นตลาดเวียดนามเป็นหลัก กล่าวเสริมว่า ภาพรวมทางเศรษฐกิจระยะสั้น-กลางของจีนมีสภาพย่ำแย่ทำให้ชาวจีนแห่กันไปหาโอกาสการลงทุนนอกประเทศมาสักระยะแล้ว

  • ที่มา: เอเอฟพีและรอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG