ลิ้งค์เชื่อมต่อ

องค์กรความช่วยเหลือเหยื่อโจมตีกาซ่า ร้องขอนานาชาติทำการสืบสวนอิสระ


ภาพรถขององค์กร WCK ที่เสียหายจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในกาซ่า ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ 7 รายเสียชีวิตเมื่อ 2 เม.ย. 2567
ภาพรถขององค์กร WCK ที่เสียหายจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในกาซ่า ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ 7 รายเสียชีวิตเมื่อ 2 เม.ย. 2567

หลายฝ่ายส่งเสียงออกมาเรียกร้องให้อิสราเอลรับผิดชอบต่อการที่กองทัพของตนทำการโจมตีทางอากาศเข้าใส่ขบวนขนส่งความช่วยเหลือในกาซ่าที่ทำให้มีเจ้าหน้าที่องค์กร World Central Kitchen (WCK) เสียชีวิต 7 คน

ขณะที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยกหูพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ในวันพฤหัสบดี และขู่ที่จะทบทวนการสนับสนุนการโจมตีกาซ่าของอิสราเอล หากไม่มีการดำเนินการที่ชัดเจนใด ๆ เพื่อปกป้องพลเรือนและเจ้าหน้าที่องค์กรความช่วยเหลือทั้งหลาย

ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า การพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่างไบเดนและเนทันยาฮูใช้เวลาประมาณ 30 นาที และผู้นำสหรัฐฯ “แสดงความชัดเจนว่า อิสราเอลต้องประกาศและดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ ที่มีการวัดผลได้ เป็นรูปธรรมและมีความชัดเจนเจาะจง ในการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามพลเรือน ความทุกข์ยากของผู้คน และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่มนุษยธรรม”

แถลงการณ์ทำเนียบขาวยังเปิดเผยด้วยว่า ปธน.สหรัฐฯ แจ้งอย่างชัดเจนว่า “นโยบายของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับกาซ่าจะถูกกำหนดโดยการประเมินของเราต่อการดำเนินการต่าง ๆ ตามขั้นตอนทั้งหลาย(ที่ระบุข้างต้น)ทันทีโดยอิสราเอล”

อย่างไรก็ดี จอห์น เคอร์บี โฆษกทำเนียบขาว ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเฉพาะเจาะจงของการเปลี่ยนแปลงที่สหรัฐฯ จะดำเนินการต่อนโยบายว่าด้วยอิสราเอลและกาซ่า ในระหว่างการแถลงข่าวหลังการพูดคุยของไบเดนและเนทันยาฮู

ขณะเดียวกัน องค์กร WCK กล่าวในวันพฤหัสบดีด้วยว่า ทางตนได้ขอให้ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา โปแลนด์และสหรัฐฯ ทำการเรียกร้องให้มี “การสืบสวนโดยบุคคลที่ 3 อย่างอิสระเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์โจมตีที่เกิดขึ้น รวมทั้ง(สอบสวน)ว่า พวกเขามีการดำเนินการอย่างจงใจหรือมีการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่”

เจ้าหน้าที่ WCK ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีชาวปาเลสไตน์ 1 คน พลเมืองอังกฤษ 3 คน พลเมืองโปแลนด์ 1 คน ชาวออสเตรเลีย 1 คน และผู้ถือสัญชาติแคนาดา-อเมริกัน 1 คน

WCK ระบุในแถลงการณ์ว่า “การสืบสวนอย่างอิสระคือหนทางเดียวที่จะพิสูจน์ความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น (พร้อม)รับประกันความโปร่งใสและการรับผิดของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง และป้องกันไม่เกิดการโจมตีต่อเจ้าหน้าที่ผู้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในอนาคต”

นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซี แห่งออสเตรเลีย กล่าวในวันพฤหัสบดีด้วยว่า ท่าทีที่อิสราเอลมีออกมานั้นยังไม่เพียงพอ “อันรวมถึงจุดที่บอกว่า นี่เป็นผลผลิตหนึ่งของสงครามเท่านั้น” และว่า “กฎหมายมนุษยธรรมสากลนั้นชัดเจนอย่างมากแล้วว่า เจ้าหน้าที่องค์กรความช่วยเหลือควรที่จะสามารถเดินหน้าให้ความช่วยเหลือและความอนุเคราะห์โดยไม่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่จะเสียชีวิต”

ส่วนนายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทัสก์ กล่าวระหว่างร่วมงานแถลงข่าวในวันพฤหัสบดีว่า โปแลนด์ต้องการจะได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นและการชดเชยให้กับครอบครัวของเหยื่อด้วย

เพนตากอนกล่าวว่า รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน “แสดงความโกรธเคืองต่อการโจมตีของอิสราเอล” ระหว่างการคุยโทรศัพท์กับรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล โยอาฟ กัลแลนต์ เมื่อวันพุธ โดยโฆษกเพนตากอน พลตรีแพท ไรเดอร์ ระบุในแถลงการณ์ว่า “รมต.ลอยด์ ระบุว่า เหตุโศกนาฏกรรมนี้ตอกย้ำความกังวลที่มีการพูดถึงกันมาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับแผนปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในราฟาห์ โดยมุ่งเน้นไปยังความจำเป็นที่ต้องทำให้มั่นใจว่า มีการอพยพของพลเรือนชาวปาเลสไตน์และมีการเคลื่อนตัวของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม”

  • ข้อมูลบางส่วนมาจาก เอพี รอยเตอร์และเอเอฟพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG