ลิ้งค์เชื่อมต่อ

"ซ้อสศรีราชา" และอาหารเอเชีย มีส่วนกำหนดวิวัฒนาการ "คลื่นลูกที่สาม" ของอาหารอเมริกัน


Sriracha is a hot sauce or chili sauce made from chili peppers, distilled vinegar, garlic, sugar and salt. (Photo by Flickr user Mike Mozart via Creative Commons license)
Sriracha is a hot sauce or chili sauce made from chili peppers, distilled vinegar, garlic, sugar and salt. (Photo by Flickr user Mike Mozart via Creative Commons license)

คลื่นลูกแรกเป็นผลมาจากอาหารของชาวยุโรปเหนือ ตามมาด้วยลูกที่สองที่มาพร้อมกับชาวกรีก อิตาเลียนและยิว

please wait

No media source currently available

0:00 0:05:32 0:00
Direct link

อเมริกาเป็นประเทศแห่งโอกาสของผู้ที่ต้องการสร้างชีวิตใหม่ ความจริงข้อนี้ดึงดูดคนจากทั่วโลกมาตั้งหลักแหล่งที่นี่ และคลื่นการอพยพของผู้คนต่างถิ่นมาพร้อมกับวัฒนธรรมการรับประทานที่ติดตัวพวกเขามา

ผลก็คืออาหารอเมริกันเปลี่ยนรูปโฉมรสชาติตามกาลเวลา และเป็นสิ่งสะท้อนความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ในอเมริกาได้อย่างดี

อาจารย์ Krishnendu Ray จาก New York University ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารกล่าวว่าทุกๆ 40 ปี การหลั่งไหลของผู้อพยพเข้ามาในสหรัฐฯ จะทำให้ตำรับอาหารอเมริกันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

เขากล่าวว่า ขณะนี้อเมริกากำลังอยู่ในช่วงกลางของ "คลื่นลูกที่สาม" ในวิวัฒนาการของอาหาร ที่ได้ลักษณะเด่นของอาหารเอเชียเข้ามาช่วยกำหนดรูปลักษณ์และรสชาติ

"คลื่นลูกแรก" อาจารย์ Ray กล่าวว่า เกิดขึ้นเมื่อราวสองร้อยปีก่อน ที่มีชาวยุโรปเหนือจำนวน 20 ล้านคน โดยเฉพาะจากเยอรมนี อังกฤษ ไอร์แลนด์ และสก็อตแลนด์ ย้ายเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ

กลุ่มคนเหล่านี้ช่วยเปลี่ยนโฉมอาหารบนโต๊ะทานข้าวของคนอเมริกัน ด้วยการเพิ่มนม เนย ชีส เบียร์ ขนมปังรวมทั้งหมูและเนื้อเข้ามา จนเมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มอาหารนี้ถูกมองว่าเป็นแบบฉบับดั้งเดิมของชาวอเมริกัน

แต่เมื่อเวลาผ่านไปสู่ยุคที่คนอิตาเลียน กรีกและชาวยิว ซึ่งอพยพมาอยู่อเมริกาช่วง ค.ศ. 1880 ถึง 1920 อาหารอเมริกันเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงใน "คลื่นลูกที่สอง"

วิวัฒนาการบนโต๊ะอาหารระลอกนี้ ทำให้คนอเมริกันรู้จักใช้น้ำมันมะกอกมาปรุงอาหารมากขึ้น นอกจากนั้นสวนครัวอเมริกันเพิ่มสมุนไพรอย่างมินท์และโรสแมรี่ให้ได้เห็น ซึ่งพืชเหล่านี้ถูกนำมาใช้แต่งกลิ่นอาหารหลายอย่าง เช่น ไก่อบ สลัด และขนมต่างๆ

ยุคดังกล่าวยังเป็นช่วงความตื่นตัวของการดื่มไวน์และการรับประทานปลาด้วย

และเมื่อคนเอเชียและลาตินอเมริกาเข้ามาในสหรัฐฯเมื่อราว 50 ปีก่อน "คลื่นลูกที่สาม" แห่งการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น นั่นก็คือการบุกครัวอเมริกันของ อาโวคาโด ซีอิ้วขาว ผักชี มะม่วง พร้อมด้วยผงกระหรี่

หนึ่งในสัญลักษณ์ของคลื่นลูกที่สามนี้คือ "ซ้อสศรีราชา" เช็ฟคนดังของสหรัฐฯ บางคนชอบใช้ซอสนี้ตามรายการต่างๆ และบริษัทซอสมะเขือเทศ Heinz ตัดสินใจเพิ่มรสซ้อสศรีราชาในผลิตภัณฑ์ของตนด้วย

อาจารย์ Ray จากมหาวิทยาลัย New York กล่าวว่า อิทธิพลของผู้อพยพมีมากในวิวัฒนาการด้านอาหารอเมริกัน เพราะผู้ที่เข้ามาสหรัฐฯ มีทักษะด้านนี้ และเริ่มชีวิตใหม่ที่นี่ด้วยการทำสิ่งที่ตนถนัด

เขากล่าวว่าตามเมืองใหญ่ๆ เช่น นิวยอร์ค ร้อยละ 70 ถึง 90 ของร้านอาหารและกิจการด้านนี้ มีคนที่เกิดในต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป คนบางกลุ่มเช่นชาวยิว ซึ่งเดิมทีมักเปิดร้านแซนด์วิชหรืออบขนมเบเกิ้ล เปลี่ยนจากคนทำอาหารเป็นนักวิจารณ์อาหาร เพราะปรับตัวด้านสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างดีในสหรัฐฯ

อาจารย์ Ray กล่าวว่ารูปแบบการปรับบทบาทเช่นเดียวกับชาวยิว อาจเกิดขึ้นกับคนอินเดียที่สหรัฐฯ ในอนาคตได้เช่นกัน

(รายงานโดย Dora Mekouar / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)

XS
SM
MD
LG